นางนันทวัลย์  ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกไทยในเดือนพ.ค. 57 มีมูลค่า 19,401.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าส่งออกรวม 92,862.1 ล้านเหรียญฯ ลดลง 1.22% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายประเภทมีราคาลดลงอย่างมากโดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง  น้ำตาลทราย ขณะที่กุ้งประสบปัญหาเรื่องของโรคตายด่วน อย่างไรก็ตามกรมฯมั่นใจว่าตลอดทั้งปีสามารถผลักดันยอดการส่งออกให้ขยายตัวเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 3.5% หรือเฉลี่ยมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญฯต่อเดือนในช่วงที่เหลือของปีได้แน่นอน  สำหรับยอดนำเข้าเดือน พ.ค. 57 มีมูลค่า20,210.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.32% เมื่อรวม 5 เดือนยอดนำเข้าอยู่ที่ 94,418.4 ล้านเหรียญฯ ลดลง 14% ส่งผลให้ในช่วงเดือน พ.ค. 57 ไทยขาดดุลการค้า 808.8 ล้านเหรียญฯ และ เมื่อรวม 5 เดือนไทยขาดดุลการค้า 1,556.2 ล้านเหรียญฯ “สินค้าส่วนใหญ่มีปริมาณส่งออกที่มากกว่าปีก่อนแต่เพราะราคาสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างชนิดสินค้าส่งผลให้มูลค่าส่งออกเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐจะลดลง อย่างไรก็ตามหากคิดเป็นเงินบาทพบว่าตัวเลขส่งออกไทยกลับเป็นบวกเนื่องจากค่าเงินบาทไทยในเดือน พ.ค. 57 จะอ่อนค่าลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8%  เห็นได้จากเดือน พ.ค. 57 มูลค่าส่งออกคิดเป็นบาทอยู่ที่621,197.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.81% เมื่อรวม 5 เดือนยอดส่งออกอยู่ที่ 2.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.26%%”  อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีกรมฯจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการประเมินแผนการส่งเสริมการค้าตามตลาดต่างๆ อย่างใกล้ชิดหากตลาดใดที่มีอนาคตก็จะเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการขายเพิ่มเติมเพื่อให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น นางนันทวัลย์ กล่าวว่า หากพิจารณาการส่งออกในเดือน พ.ค. เป็นรายตลาด ยังพบว่าตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 2.8% หรือมูลค่า 2,067 ล้านเหรียญฯ, ตลาดยุโรป (15 ประเทศ) มูลค่า 1,939 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 11.9% ,ตลาดญี่ปุ่น มูลค่า 1,824 ล้านเหรียญฯ ลดลง 9.9% เพราะค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นจะแพงขึ้น ตลาดอาเซียน มูลค่า 5,338 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 0.1%, ตลาดจีน 2,032 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.7%, อินเดีย 513 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 19.4%, ตะวันออกกลาง 1,007 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 1%, ทวีปออสเตรเลีย 812 ล้านเหรียญฯ ลดลง 27.6% สาเหตุมาจากยอดส่งออกรถยนต์ไทยลดลงเพราะออสเตรเลียรณรงค์ให้มีการใช้สินค้าประเภทนี้ที่ผลิตในประเทศให้มากที่สุด  สำหรับปัจจัยที่ผลกระทบต่อการส่งออกไทยและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด คือเรื่องของเศรษฐกิจจีนที่ยังมีสัญญาณอ่อนแรงจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น รวมถึงต้องติดตามความคืบหน้าในการปฎิรูปเศรษฐกิจจีนเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่สถานการณ์การค้าปลีกของเกาหลีใต้ยังชะลอตัวเช่นกัน เนื่องจากเหตุการณ์เรือเฟอร์รีล่มที่ส่งผลต่อภาวะจิตใจของประชาชนทั่วประเทศทำให้ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง บันเทิง โรงแรมและร้านอาหารถูกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 57 รวมถึงเรื่องของการส่งออกน้ำตาลทรายที่ได้รับผลจากความตกลงเขตการค้าเสรีเกาหลีใต้-ออสเตรเลีย ทำให้เกาหลีใต้หันไปนำเข้าน้ำตาลจากออสเตรเลียเนื่องจากเสียภาษีในอัตรา 0% นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ในส่วนของการนำเข้าเดือน พ.ค. 57 ที่ลดลง 9.3% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าทุน ยานพาหนะ อุปกรณ์การขนส่ง อาวุธ  เป็นต้น โดยสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น กลุ่มเชื้อเพลิงมูลค่า 4,941 ล้านเหรียญฯ, ลดลง 9.3%, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 1,822 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.7%, เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ 1,309.9 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 0.9%, เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์ 106 ล้านเหรียญฯ ลดลง 64.3%, วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป 7,507 ล้านเหรียญฯ ลดลง 11.3%, เครื่องอุปโภคและบริโภค 1,853 ล้านเหรียญฯ ลดลง 4.7%, ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 907 ล้านเหรียญฯ ลดลง 25.8% เป็นต้น ส่วนกรณีที่มีบางประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ ออกข่าวว่าจะแบนสินค้าประมงจากไทยนั้น เป็นเพียงแค่บางบริษัท ไม่ใช่ทุกบริษัท และไม่ได้แบนทันที บางรายแค่ชะลอการนำเข้าในช่วงนี้ แต่ถ้าไทยสามารถชี้แจงและยืนยันให้ลูกค้าเข้าใจและมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน ก็จะทำการค้ากับไทยต่อไป ซึ่งเท่าที่ทราบทางกลุ่มซีพีเอฟ ก็ได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ซื้อในยุโรปแล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังคงยืนยันทำการค้ากับไทย เช่น สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐฯ (เอ็นเอฟไอ) เป็นต้น                

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ส่งออกพ.ค.ติดลบ2.14%

Posts related