นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. เตรียมประชุมหามาตรการแก้ปัญหาคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าต่างชาติ เดือน ม.ค. 57 ที่เริ่มหยุดชะงักแล้ว เนื่องจากเกรงว่า หากสถานการณ์การชุมนุมเกิดเหตุรุนแรง ผู้ผลิตสินค้าไทย จะผลิตสินค้าให้ไม่ได้ตามคำสั่งซื้อ จึงหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งหากเป็นออเดอร์ใหม่ ๆ เกรงว่า ลูกค้าจะไม่กลับมาสั่งซื้อสินค้าในไทยอีก เหมือนกรณีน้ำท่วมในปี 54 ลูกค้าบางราย ยกเลิกสั่งซื้อสินค้าไทยถาวร และมีนักลงทุนต่างชาติ สอบถามเหตุการณ์มายัง ส.อ.ท.จำนวนมากว่า สถานการณ์ชุมนุมจะรุนแรงมากน้องเพียงใด ซึ่งส.อ.ท.ไม่สามารถตอบได้ อย่างไรก็ตามหากถามว่า การยุบสภา จะเป็นทางออก หรือคำตอบสุดท้าย เพื่อให้ทุกอย่างกลับไปสู่ภาวะปกติหรือไม่ เป็นการประเมินยาก เพราะหากทุกคนเข้าคูหาเลือกต้ังใหม่แล้ว พรรคไหนมาเป็นรัฐบาล แล้วจะไม่มีการต่อต้านอีก นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ภาคเอกชนวิตกกังวลมาก เพราะเกรงว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง และสูญเสียความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางการเมืองที่ขัดแย้งกันมาเกือบ 10 ปี มองว่าหากท้ายที่สุด รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในความสงบได้ ก็มีทางออกสุดท้ายอย่างเดียว คือการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินกันใหม่ แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าประเทศจะเดินหน้าไปสู่ความรุนแรง และภายหลังการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ไม่ให้เกิดเหตุใครแพ้ก็มาขับไล่รัฐบาลอีก ถ้าไม่เคารพกติกาประเทศชาติก็ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ด้านนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท. กล่าวว่า หากรัฐบาลประกาศยุบสภา ฯ สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลมากที่สุด คือ นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงงาน จากปัจจุบัน 300 บาท ปรับเป็น 400 -500 บาท เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อผู้ประกอบการ มากกว่าสถานการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อ กรณีไม่เกิดเหตุความรุนแรง เพราะสถานการณ์การชุมนุมในไทย เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวได้แล้ว แต่ผลกระทบค่าแรงที่ปรับขึ้น ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังได้รับผลกระทบ จนต้องปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง “ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่สายป่านไม่ยาวมาก ยังปิดกิจการอย่างเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่ปรับขึ้นในช่วงต้นปี และถ้ารัฐบาลมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วนำนโยบายประชาชนนิยม โดยเฉพาะปรับขึ้นค่าแรงมาใช้ จะยิ่งทำให้เอสเอ็มอี ตายหมดแน่นอน ตอนนี้กลายเป็นว่า ต้นทุนของผู้ประกอบไทยสูงกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน ถ้ายิ่งปรับขึ้นไปอีก รับรองทั้งมาเลเซีย เวียดนาม พม่า นั่งหัวเราะเยาะไทยแน่นอน เพราะเท่ากับว่า นอกจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ที่ทุกๆประเทศ ได้รับกระทบเหมือนกัน แต่ตอนนี้ เรากลับทำร้ายตัวเองมากยิ่งกว่าผลกระทบเศรษฐกิจโลกอีก” อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การชุมนุมที่ยังยืดเยื้อต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกิดใหม่ เช่น ผู้ประกอบการขายนกหวีด ผ้าพันคอ ของที่ระลึกในงาน สามารถสร้างรายได้แต่ละวันเป็นจำนวนมาก แต่จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และขณะนี้สิ่งที่เอกชน ต้องการคือ ให้รัฐบาลเร่งส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างต่อเนื่อง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ส.อ.ท.ระดมสมองแก้คำสั่งซื้อปี57หด

Posts related