นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่มีนโยบายรับแรงงานเพิ่ม เนื่องจากได้ลดกำลังการผลิตลง เพราะการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว จากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ประกอบกับภาคการส่งออกไตรมาส 1 ของปีนี้ ติดลบ 1 % ทำให้ยอดขายของผู้ผลิตลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้เริ่มลดเงินเดือนพนักงาน และบางแห่งเริ่มปลดแรงงานแล้ว ซึ่งหากการเมืองยังยืดเยื้อต่อไป คาดว่าปีนี้จะมีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 500,000 คน โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ จะได้งานน้อยกว่าสายวิชาชีพ“ตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าแรงงานไทย ว่างงานค่อนข้างต่ำเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีอัตราว่างงาน 0.9% ของกำลังแรงงาน หรือปริมาณ 341,000 คน แต่เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 0.6 -0.7% และในเดือน เม.ย.–พ.ค. นี้ จะมีนักศึกษาจบใหม่อีก 400,000 กว่าคน และในจำนวนดังกล่าวเป็นนักศึกษาที่จบระดับอุดมศึกษาถึง 300,000 คน ประมาณการณ์ว่า จำนวนนี้จะเป็นสายอาชีพ 50% ที่เหลือ 150,000 คนค่อนข้างชัดเจนว่า จะตกงาน ดังนั้นหากการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไป คาดว่า ปีนี้อัตราตราการว่างงานจะเพิ่มเป็น 490,000 – 500,000 คน หรือคิดเป็น 1.1%”ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการขยายการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จะมีส่วนสำคัญต่อการดูดซับแรงงานที่จบใหม่เข้าสู่ระบบ แต่ปัจจัยการเมืองของไทย ที่มีปัญหายืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบอย่างไร ทำให้การลงทุนทั้งสองส่วนต้องชะลอออกไปก่อนจนกว่าการเมืองจะชัดเจน จึงทำให้การว่างงานส่วนนี้ลดลง แม้รัฐบาล จะมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ชุดใหม่แล้ว เพื่อเร่งอนุมัติการลงทุนค้างท่อกว่า 660,000 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการลงทุน แต่เชื่อว่า การลงทุนจริง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภาพการเมืองของไทยมีความชัดเจนขึ้น“เอกชนอยากเห็นการเลือกตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และให้เร่งอนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน เพราะหากไม่มีส่วนนี้ออกมา เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แรงงานจะตกงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ ยิ่งสายงานที่ไม่ใช่ช่างโรงงานที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นเด็กสายงานประจำออฟฟิศ เด็กกลุ่มนี้จะเสี่ยงตกงานมากที่สุด”นายสุพันธุ์มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท กล่าวว่า ส.อ.ท. จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอเสเอ็มอี ในการเจรจากับรัฐบาล และสถาบันการเงิน ให้ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเร็ว ๆ นี้ จะเข้าไปหารือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเข้าไปช่วยค้ำประกันหนี้ให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง ในส่วนของรัฐบาลควรจะต้องเร่งผลักดันงบประมาณปี 58 เพื่อให้มีงบลงทุนออกมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เข้ามาช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีให้ดำเนินกิจการต่อไปได้นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธาน ส.อ.ท. ดูแลสายงานการค้าชายแดน กล่าวว่า การค้าชายแดนในปี 56 มีมูลค่า 900,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 500,000 ล้านบาท และการนำเข้า 400,000 ล้านบาท โดยในปี 57 คาดว่า ส่งออกชายแดน จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับปี 56 เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก ระดับ 7-8% โดยการส่งออกผ่านแดนไปยังประเทศพม่า จะขยายตัวมากที่สุด 20-30% เนื่องจากมีประชากรกว่า 60 ล้านคน และเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง รถยนต์มือสอง เครื่องอุปโภค บริโภค กัมพูชา จะขยายตัว 10% ลาว จะขยายตัว 15-20% โดยสินค้านำเข้าหลักจะเป็นวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิเตอร์ อุปกรณ์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และบางส่วนเป็นสินค้าผ่านแดนไปยังเวียดนาม และจีนตอนใต้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ส.อ.ท.ส่งสัญญาณไม่รับแรงงานเพิ่ม

Posts related