นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) งานส่งเสริมการค้าชายแดน เปิดเผยว่า เอกชนเห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เต็มที่ โดยจะต้องออกกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดชายแดนให้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะเรื่องแรงงาน ควรแก้กฎระเบียบให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเดินทางข้ามแดนเข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับได้โดยง่าย โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนในไทย และลดการไหลของแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ตัวเมืองนอกจากนี้ ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะต้องมีการจัดตั้งศูนย์กระจาย และเขตฟรีโซน เพื่อให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออกได้ โดยไม่ต้องค้ำประกันภาษี เพราะหากรัฐไม่ให้สิทธิพิเศษส่วนนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระจ่ายภาษีนำเข้าวัตถุดิบไปก่อน จากนั้นภายหลังส่งออกจะต้องมาทำเรื่องขอคืนภาษี ซึ่งบางอุตสาหกรรมต้นทุนวัตถุดิบสูงถึง 50-60% ของมูลค่าสินค้า ดังนั้นภาษีส่วนนี้จึงเป็นภาระที่สำคัญของผู้ส่งออก หากรัฐให้สิทธิพิเศษในส่วนนี้ จะช่วยดึงดูดให้ผู้ส่งออกเข้ามาตั้งฐานการผลิตได้มากขึ้นสำหรับพื้นที่เป้าหมาย ในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ควรจะเริ่มในพื้นที่ที่ผ่านการศึกษาไว้แล้ว ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ที่ด่านเจดีสามองค์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรม จ.ทวายในประเทศเมียนมาร์ได้ จ.เชียงราย ที่ด่านเชียงของ จ.หนองคาย ด่านที่อยู่ติดกับกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว และจ.มุกดาหาร ที่ด่านชายแดนมุกดาหาร อย่างไรก็ตามมองว่า คสช. ควรจะเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อขยายการค้ากับประเทศกัมพูชา ที่จ.สระแก้ว ในบริเวณด่านอรัญประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังกรุงพนมเปญได้สะดวกสามารถขยายการค้าชายแดนได้อีกมากนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การดึงดูดการลงทุนเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะให้ตามเกณฑ์สูงสุดตามเกณฑ์ที่มีอยู่ ได้แก่ ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี อนุญาตให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก จากกำไรสุทธิ 25% ของเงินลงทุน ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมโดยผู้ได้รับการส่งเสริม เป็นต้น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือในการเพิ่มเติบข้อผ่อนปรนพิเศษบางอย่าง ซึ่งจะส่งให้ บอร์ดบีโอไอพิจารณาก่อน จึงจะสรุปได้ว่ามีข้อผ่อนปรนอะไรบ้าง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ส.อ.ท. หนุนตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน

Posts related