นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยในงานสัมมนาเชิงนโยบายระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ขณะนี้ประเทศไทย จีน เกาหลีใต้ กำลังเริ่มเดินเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุตามหลังญี่ปุ่น ซึ่งอาจมีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำลง อีกทั้งมีภาระทางการคลังสูงขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดในการพึ่งพาการบริโภคอุปโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพได้ ดังนั้น จึงต้องเร่งหาแนวทางเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนอื่นมาชดเชย   “เนื่องจากขณะนี้ภูมิภาคเอเชียมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมาขึ้น  หรือการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 2 ใน 3  มาจากเศรษฐกิจเอเชีย แม้ว่าอดีตนั้น เอเชียจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า การส่งออกเป็นหลัก แต่ระยะหลังนี้ มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น จากประชาชนที่มีรายได้มากขึ้น จึงมีกำลังซื้อสูงขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้นแล้ว ซึ่งมองว่าประเทศในเอเชียจะมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุลมากกว่าเดิม แต่หากเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว การจะพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศทำได้ยาก”   แต่ทั้งนี้ การจะรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพนั้น จะต้องดูแลใน 3 ด้านหลักให้ดีนั่นคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยดังกล่าว เช่นที่ญี่ปุ่น มีการใช้แรงงานจากผู้หญิง และชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งประเทศที่จะเจอปัญหาลักษณะนี้ ต้องเริ่มคิด และดำเนินการแต่เนิ่น ๆ   รองลงมาคือ ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ดี ซึ่งขณะนี้มีปัจจัยสนับสนุนให้ภาวะการเงินมีสภาพคล่องสูง ทั้งจากมาตรการทางการเงินโลกที่ผ่อนคลาย สถาบันการเงินปล่อยกู้มากขึ้น ที่สำคัญ จังหวะไหนที่เศรษฐกิจเติบโตดี ประชากรรู้สึกมีความสุข จนไม่ระมัดระวังว่าจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ หรือวิกฤติทางการเงินขึ้น เหมือนที่เคยเกิดวิกฤติการเงินในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกามาแล้ว เป็นต้น ดังนั้นต้องเร่งสร้างให้เกิดวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงินที่ดี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินให้มีระบบที่รัดกุม เช่น ธรรมาภิบาล มาตรฐานทางบัญชี เป็นต้น  สุดท้ายคือกลไกความร่วมมือที่จะช่วยลดความเสี่ยงในภูมิภาคด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ธนาคารกลางของทุกประเทศในเอเชียก็เริ่มมีความตกลงทำงานร่วมกันให้สะดวกขึ้นมากแล้ว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หวั่นผู้สูงอายุพุ่งกระทบฐานะการคลัง

Posts related