นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ภาคการเงินมีส่วนช่วยภาคครัวเรือนสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งการรับผิดชอบในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ความโปร่งใส และไม่จูงใจให้ภาคครัวเรือนขาดวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่อาจสร้างความเสียหายกับคนจำนวนมาก และนำไปสู่ความน่าเชื่อถือต่อวินัยทางการเงินของประเทศ “การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บิดเบือนความเข้าใจผู้ใช้บริการและจูงใจให้กู้ยืม โดยผู้กู้ไม่ได้มีความสามารถในการชำระคืนนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมมากมาย ทั้งการใช้บัตรเครดิตหลายใบและใช้วงเงินทุกใบจนครบโดยไม่ระวังถึงความสามารถในการชำระหนี้ หรือการให้สินเชื่อประเภทที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือสินเชื่อเช่าซื้อบางประเภท ที่ให้น้ำหนักความสามารถชำระหนี้ในอนาคตน้อยเกินไป อาจสร้างความเสียหายเชิงสังคมที่จับต้องได้ อาทิ การหนีหนี้ การทิ้ง หลักประกันและกลายเป็นหนี้เสีย และสร้างความเสียหายให้กับประเทศ” อย่างไรก็ตาม กรณีของประเทศไทยนั้น บทบาทผู้ให้บริการทางการเงินนอกการกำกับดูแลของ ธปท. อาทิ สถาบันการเงินภาครัฐฯ และ สหกรณ์ มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐฯ จะต้องร่วมมือกันขยายขอบเขตการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคครัวเรือนที่ใช้บริการผ่านผู้ให้บริการเหล่านี้อย่างทั่วถึงด้วย โดยการส่งเสริมระบบการประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ การส่งเสริมวินัยทางการเงินของผู้ใช้บริการ และการกำกับดูแลให้บริการด้วยความเป็นธรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคการเงินได้เชื่อมโยงกับภาคต่างๆ ที่เป็นตัวกลางจัดสรรทรัพยากรจากผู้ออมไปยังผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน ส่งผลให้ทรัพยากรทุนสามารถหมุนเวียนในระบบได้โดยไม่สะดุด แต่ในทางตรงกันข้ามก็เกิดปัญหาที่พบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น วิกฤติในภาคการเงินที่นำไปสู่การขาดความมั่นใจต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลไปยังภูมิคุ้มกันของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนอย่างยืดเยื้อ แต่ยืนยันว่าประเทศไทย มีระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีภูมิคุ้มกันระดับที่สูง เงินกองทุนและการกันสำรองอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง เพียงพอต่อการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ และภาคธุรกิจไทยทั้งในและต่างประเทศ “ระบบการเงินไทยมีตัวอย่างที่ดีของการให้บริการควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านวินัยการเงิน เช่น มีวินัย จ่ายตรงตามกำหนด ลดดอกเบี้ย ที่นำไปสู่ประโยชน์ร่วมทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ถือเป็นประโยชน์ในแง่ความรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่ากิจกรรมประชาสัมพันธ์ โดยบทบาทของ ธปท.ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างฉลาดและยั่งยืน”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หวั่นแบงก์พาณิชย์ทำลูกค้าหนี้เพิ่ม

Posts related