การพัฒนาคน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ นับเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555–2559) เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลจักรสำคัญในการผลักดันขีดความสามารถและการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เทคโนโลยีจึงมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดรูปแบบการศึกษายุคใหม่ การเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการที่มีต่อเทคโนโลยีจากเด็กนักเรียน ความพร้อมใช้งานของเนื้อหาออนไลน์ และความคิดริเริ่มในการปฏิรูปหลักสูตร เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) และกรอบความคิด สมาร์ท เลิร์นนิ่ง (Smart Learning) ล้วนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการศึกษาอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เป็นการสร้างโอกาสที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับทั้งโรงเรียนและครูผู้สอน ในการเปลี่ยน แปลงวิธีการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน นักการศึกษาทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ (Digital Inclusion) นำมาสู่แนวคิดเรื่อง “ห้องเรียนอัจฉริยะ” หรือ Smart Classroom ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติกลาง ๆ ที่อธิบายถึงการนำเทคโนโลยีทั้งระบบมาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนอย่างแท้จริง รวมถึงช่วยขยายโอกาส สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อน Smart Classroom คือ ครูที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน สพฐ. ได้ดำเนินโครงการ Partners in Learning   สร้างเครือข่ายชุมชนของครูอันเข้มแข็ง ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการเรียนการสอน โครงการนี้ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มีครูที่ผ่านการอบรมจำนวน 164,000 คน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 9,000 แห่ง  นอกจากนี้ ดิจิตัล คอนเทนท์ หรือเนื้อหาสาระต่าง ๆ ควรมีการพัฒนามาสู่ระบบออนไลน์ให้มากขึ้น โดยในปัจจุบันนักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ร่วมกันได้ผ่าน “คลาวด์” ที่ สพฐ. เลือกนำมาใช้งาน ซึ่งมีความปลอดภัยสำหรับการปกป้องข้อมูลของครูและนักเรียน.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หัวใจของห้องเรียนอัจฉริยะ

Posts related