นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 57 เรื่องอนาคตประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ เป็นห่วงเกษตรกรไทย ที่เป็นรายย่อย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ อาจต้องล่มสลายลง ภายหลังเปิดประชาคมอาเซียนในปี 58 เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ข้อมูลว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการวางแผนปลูกพืชผลทางการเกษตร อาจมีประเทศคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่า จนในที่สุดเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้“ตอนนี้ ต้องให้เกษตรกรรู้ข้อมูลในปีหน้า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ปรับตัวจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ล่มสลาย ต้องรู้ว่า ปลูกอะไร แล้วขายได้ เช่น ปลูกมะม่วงพันธุ์ดี ที่มีราคาแพง ไม่มีประเทศไหนเป็นคู่แข่ง ปลูกข้าวพันธุ์ที่ประเทศอื่นไม่มี ไม่ใช่ไปปลูกเหมือนคู่แข่ง หรือส่งเสริมการทำปศุสัตว์ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวทางนี้ เป็นตัวอย่างที่เกษตรกรควรจะรู้ แล้วปรับตัวให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาดี”ทั้งนี้ สภาเกษตรกรฯ เตรียมเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา โดยแบ่งแนวทางการแก้ปัญหา เป็น 2 ระดับ คือ นโยบายระดับเศรษฐกิจมหภาค ที่จะใช้แข่งขันกับนานาประเทศ และนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้า ระดับชนบท ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่กับการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม และต้องนำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ยังต้องแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ ทั้ง การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน และแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับคนชนบท รวมถึงการแก้ปัญหาทางการคลังที่สมดุลมากขึ้นด้วยด้านนายประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ราษฎรอาวุโส และประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า การเติบโตของไทย ไม่ใช่โตแค่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญ กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นด้วย ว่าได้รับการปรับแก้ไขให้ลดลงไปจากไทยจริงหรือไม่ เพราะหากการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัว แต่ประชากรกว่า 99% ของประเทศ ไม่มีความกินดีอยู่ดีขึ้น ก็ถือว่าไม่เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน โดยแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนของไทย คือ การคืนอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ประชาชนปกครองกันเอง ชุมชนจัดการบริหารกันเอง ซึ่งมองว่า เป็นแนวทางที่ดีกว่าการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เช่น ปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นจากคนที่มีอำนาจจนกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ห่วงเกษตรกรล่มหลังเปิดเออีซี

Posts related