นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับทราบรายงานภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ประเมินว่า หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 ก.ค.57 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดไว้ จะกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 58 ซึ่งคาดว่า กว่าจะมีรัฐบาล และได้ใช้เงินอาจจะเข้าสู่เดือนเม.ย.58 ซึ่งระหว่างเดือนก.ย.56-ก.พ.57 จะไม่สามารถใช้งบประมาณ เพื่อการลงทุนในโครงการใหม่ได้โดย ใช้ได้แต่งบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำ ส่วนตัวเห็นว่าการเลือกตั้งควรจะเกิดขึ้นเร็วที่สุด ไม่ควรเกินเดือนมิ.ย.56 หากปัญหาการเมืองยืดเยื้อไปถึงปลายปีจีดีพีอาจจะขยายตัวได้ 0-1% หรืออาจติดลบ แต่หากมีการเลือกตั้งได้ในเดือนก.ค.คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 2%“ที่น่าห่วงที่สุดเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คือเอกชนจะหยุดประกอบการ ลดการผลิตลง คนว่างงานจะเพิ่มขึ้น ตอนนี้เริ่มมีกระแสบริษัทลดคนงาน หรือให้คนงานออกจากงานแล้ว”นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เตรียมนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแบบกลุ่มย่อย โดยในวันที่ 28 เม.ย.นี้ จะนัดหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงต่างประเทศ เพื่อพิจารณาแนวทางการผลักดันการส่งออก กรอบข้อตกลงการค้าเสรีแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นต้องมาเร่งหารือและผลักดันร่วมกัน“ขณะนี้เรื่องของการส่งออก เป็นภาคที่น่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากที่สุด ซี่งกระทรวงพาณิชย์เองก็เป็นผู้ที่ช่วยส่งเสริม เช่น ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เพราะตอนนี้เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกแล้ว ก็เห็นว่ายังเติบโตได้ดี 3-4% จึงน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก ส่วนการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำอยู่ ก็พยายามหาตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้ส่งออก โดยได้กำชับไปยังทูตพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ ช่วยหาตลาดใหม่ให้ด้วย”ด้านร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนก.พ. และแนวโน้มปี 57 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยแสดงความเป็นห่วงว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 4 ประการ คือ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศมีความล่าช้า และการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาดการณ์ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเรื่องความล่าช้าของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออก ,สถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และการปิดซ่อมแหล่งก๊าซเจดีเอในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.57ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนก.พ.นั้น เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญปรับตัวลดลงจากเดือนม.ค. ทั้งการผลิตภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เป็นการปรับตัวลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่เป็นไปอย่างช้า ๆ รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้ง และปัญหาในภาคการท่องเที่ยว และเมื่อเทียบกับเดือนก.พ.56 พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวยังลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ห่วงเลือกตั้งช้าเศรษฐกิจทรุด เบิกจ่ายสะดุด

Posts related