รูปประกอบที่ท่านเห็นในบทความนี้เป็นตัวอย่างที่ผมใช้ในการบรรยายเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ในรูปเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ผมเพียงแต่เอาสีมาระบายปิดตัวอักษรแหล่งที่มาของกระป๋องเท่านั้น ผมใช้ตัวอย่างนี้ในการบรรยายพร้อมกับตั้งคำถามว่า “ถ้าคุณเดินไปกดน้ำจากเครื่องและพบสิ่งสกปรกแบบนี้บนฝากระป๋อง คุณจะทำอย่างไร” แน่นอนว่า ไม่มีคำตอบใดถูกหรือผิด เพียงแต่คำตอบที่ได้นั้นเป็นตัวสะท้อนถึงวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมในยุคปัจจุบัน ผมพบคำตอบหลากหลายจากชั้นเรียน ไม่ว่า เอากระป๋องไปล้าง ใช้หลอดดูดแทนที่จะดื่มจากกระป๋อง ถ่ายรูปแล้วแชร์ผ่านโซเชียล ประณามผู้ผลิตผ่านเว็บบอร์ดชื่อดัง ฟ้องสายด่วนผู้บริโภค หรืออะไรก็แล้วแต่จริง ๆ แล้วการที่ผมนำรูปนี้ไปใช้ประกอบการบรรยาย ก็เพราะอยากตั้งคำถามกับชั้นเรียน โดยเฉพาะชั้นเรียนนวัตกรรม เพื่อให้เขาเหล่านั้นรู้เท่ากันกระบวนการคิด และสามารถเสนอแนวทาง ผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการใหม่ ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่หลายคนเลือกที่จะแชร์เรื่องเหล่านี้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แล้วก็ปล่อยให้เรื่องมันจบไป เปรียบไปก็เหมือนกับการที่คุณกำลังขังความคิดเกี่ยวกับปัญหานี้ในหม้อต้มน้ำที่กำลังเดือดพล่าน ให้สมองหาทางแก้ปัญหาแบบเร็วจี๋และหลากหลาย แต่แล้ว อยู่ดี ๆ คุณก็เปิดฝากาน้ำ ปล่อยความคิดดี ๆ หลุดลอย ทำให้สมองของคุณหยุดคิดเรื่องนี้ไป การระบายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ใช่เพียงการเปิดฝากาน้ำเท่านั้น หากแต่มันยังเข้าไปมีอิทธิพลในกระบวนการคิดของนักเรียน นักศึกษาในยุคนี้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการนำเสนอโครงงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ต้องทำเพื่อจบการศึกษา หรือโครงงานเพื่อประกวดก็ตาม หลายกลุ่มได้ปลดปล่อยพลังงานของตนเองไปกับกลไกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยละเลยและหลงลืมหัวเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจไป ซึ่งก่อนที่จบบทความในวันนี้ผมหยิบ 7 แนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับปีนี้จากฟอร์บส์ออนไลน์ (http://onforb.es/1duyyA) มากระตุ้นเตือนหลายท่านว่า เรื่องเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้โซเชียลเน็ตเวิร์กเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถและการแข่งขันของสมาร์ททีวี สมาร์ทวอตช์หรือนาฬิกาแสนฉลาดจะมีความสามารถที่หลากหลายขึ้นและที่สำคัญ มันจะฉลาดขึ้น กูเกิลกลาสน่าจะแผลงฤทธิ์ในปีนี้ การใช้งานทัชไอดีของแอปเปิลจะหลากหลายมากยิ่งขึ้น (และที่สำคัญมันสามารถใช้ไอโฟนระบุตัวตนในการทำโน่นทำนี่ได้มากขึ้น) เกมคอนโซลอย่างเอ็กซ์บ็อกซ์วันและพีเอสโฟร์จะขยับขยายความสามารถในการให้ความบันเทิงมากขึ้น ผู้ใช้สามารถใช้งานเพื่อความบันเทิงไปพร้อม ๆ กับเล่นเกมไปด้วยได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่กำลังเติบโตอย่างกล้าแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ  แถมท้ายด้วยการทำงานกับผู้ช่วยส่วนตัวอย่างกูเกิลนาวและสิริของแอปเปิลที่มันจะฉลาดและทำงานได้ถูกต้องมากขึ้น เห็นไหมครับว่า ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย “ลองหยุดคิดเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กสักนิด เผื่อความคิดดี ๆ อื่น ๆ จะเกิดขึ้น”. สุกรี สินธุภิญโญ ( sukree.s@chula.ac.th ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อย่าปล่อยให้โซเชียลเน็ตเวิร์กครองโลก – 1001

Posts related