เมื่อเร็ว ๆ นี้คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมหลายท่านคงจะได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับว่าจะมีการปิดเว็บไซต์บ้าง ปิดโซเชียลเน็ตเวิร์กบ้าง หรือแม้แต่ปิดระบบ อินเทอร์เน็ตหมดเลยบ้าง ช่วงที่ข่าวลือที่ว่านี้กำลังสะพัด คนที่ติดตามข่าวคงได้ยินคำศัพท์เกี่ยวกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ถูกแชร์ต่อกันให้ว่อนไปหมดเลยใช่ไหมล่ะครับโดยเฉพาะคำว่า เกตเวย์ (Gateway) ซึ่งผมเชื่อว่าต่อไปน่าจะถูกวนเวียนกลับมากล่าวถึงบ่อยขึ้น ก็เลยจะชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับคำคำนี้กันครับ ก่อนอื่นผมขออธิบายคำว่าเกตเวย์ในทางคอมพิวเตอร์ก่อนนะครับ เกตเวย์ คือ อุปกรณ์ตัวหนึ่งที่มีหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหลาย ๆ เครือข่ายเข้าด้วยกัน ไม่ว่าเครือข่ายเหล่านั้นจะใช้คอมพิวเตอร์ต่างชนิดกัน ใช้โปรโตคอลต่างกัน ส่งข้อมูลคนละชนิดกัน หรือไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลยก็ตาม แต่เจ้าอุปกรณ์อัจฉริยะตัวนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นล่ามตัวกลาง ช่วยแปลงให้สัญญาณอะไรก็ไม่รู้ที่ถูกส่งมาจากต้นทางกลายเป็นสัญญาณแบบที่เครือข่ายผู้รับปลายทางสามารถฟังรู้เรื่องได้ในที่สุด ด้วยภาระหน้าที่ที่สำคัญขนาดนี้ของเกตเวย์นี่ล่ะครับ ทำให้ตัวเกตเวย์มีหน้าที่หลักหน้าที่หนึ่งก็คือทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูเมืองในหนังสมัยก่อนกลาย ๆ โดยในหนังนั้น ผู้คนจะสัญจรเข้า-ออกเมืองได้ก็ต้องผ่านประตูเมืองเท่านั้น เช่นเดียวกับข้อมูลที่รับ-ส่งกันบนเครือข่ายที่ต้องผ่านเกตเวย์เท่านั้นไม่งั้นอาจจะคุยข้ามเครือข่ายกันไม่รู้เรื่อง แต่เนื่องจากประตูอาจมีได้หลายที่หลายประตู เกตเวย์ก็เช่นเดียวกันครับที่มีตั้งแต่ระดับที่ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างประเทศและที่ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายในประเทศ เวลาที่พวกเราเล่นอินเทอร์เน็ตเข้าเว็บเมืองนอกอย่างเฟซบุ๊กแน่นอนว่าต้องมีการใช้เกตเวย์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายภายในประเทศไทยเพื่อให้คุยกับเครือข่ายของเฟซบุ๊กที่ต่างประเทศได้รู้เรื่อง ซึ่งเกตเวย์ระหว่างประเทศที่ว่านี้ก็มีอยู่ที่บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) อย่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT), กสท โทรคมนาคม (CAT), ทรู (TRUE) หรือแม้แต่ ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CS Loxinfo) นั่นเองครับ โดยผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็มีเกตเวย์เป็นประตูส่วนตัวสำหรับเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายต่างประเทศของตนเอง และประตูที่ว่านี้ก็สามารถมีได้มากกว่าหนึ่งเสียด้วย เหมือนประตูเมืองที่มักมีหลายทาง อยากเลือกเข้า-ออกทางไหนก็ได้ตราบเท่าที่เจ้าของประตูอนุญาต คราวนี้ประเด็นที่ว่า การที่ประตูทางออกเมืองพัง หรือที่หลายคนเรียกว่า เกตเวย์ล่ม จนทำให้พวกเราไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศได้นั้น มันเป็นไปได้จริงหรือ? ทางทฤษฎีแล้วผมก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ครับ เนื่องจากเกตเวย์ก็เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวหนึ่ง การที่วันนึงจะเกิดเสียหรือทำงานผิดพลาดขึ้นมาย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่บังเอิญว่าบรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเองก็มักมีการคิดถึงประเด็นนี้ไว้แล้ว และกระจายความเสี่ยงด้วยการทำประตูหรือเกตเวย์ไว้หลาย ๆ ทางเพื่อที่ว่าหากทางใดล่มไปอีกทางก็จะยังทำงานได้อยู่ คราวนี้ก็มาถึงคำถามใหม่ล่ะครับว่า แล้วเป็นไปได้ไหมที่เกตเวย์หลาย ๆ เกตเวย์จะล่มพร้อม ๆ กัน ? คำตอบของผมก็ยังคงบอกว่า เป็นไปได้ครับ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็น้อยมาก ๆ เลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าประตูหรือเกตเวย์เหล่านั้นเป็นของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตคนละเจ้ากันด้วย อารมณ์เหมือนกับว่า เป็นไปได้ไหมโทรศัพท์ 5 เครื่อง 5 ยี่ห้อของเราจะเสียพร้อม ๆ กันทีเดียวนั่นล่ะครับ ในปัจจุบันนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีแนวคิดที่จะผลักดันโครงการ “อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ” หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า National Digital Internet Gateway ขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะเอาเกตเวย์ทั้งหมดที่เชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศไปรวมไว้ที่ TOT และ CAT แทนที่จะมีอยู่อย่างกระจัดกระจายในผู้ให้บริการอินเทอร์ เน็ตรายต่าง ๆ ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีเชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้การควบคุมและตรวจตราข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตง่ายดายขึ้น แล้วยังจะช่วยในการดูแลจัดการเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ป้องกันการก่อการร้ายหรือการโจรกรรมข้อมูลสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเว็บไซต์ส่วนมากอย่างเช่นพวกเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ล้วนเข้ารหัส HTTPS เพื่อรักษาความลับของข้อมูลในการรับ-ส่งกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะปิดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์รายบุคคลในเชิงเทคนิคก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายซะทีเดียวครับ ไม่นับวิธีซิกแซกอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก แต่คำถามที่น่าสนใจมากกว่าเชิงเทคนิคก็คือ การปิดกั้นเสรีในโลกอินเทอร์เน็ตจะส่งผลดีหรือร้ายมากกว่ากันแน่? ผมยังจำได้ว่าผมเคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนว่า ผมเห็นด้วยที่บางครั้งก็ต้องมีการควบคุมความเป็นเสรีทางอินเทอร์เน็ตบ้าง เพราะอินเทอร์เน็ตแม้มีคุณอนันต์แต่ก็สามารถเป็นโทษมหันต์ได้ ถ้าเกิดผมมีลูกเล็ก ๆ ที่ยังไม่ประสีประสา แน่นอนว่าผมคงไม่สบายใจที่จะปล่อยให้ลูกของผมสามารถเข้าถึงภาพอนาจารหรือภาพความรุนแรงต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ผมเชื่อว่าวิธีการควบคุมโดยการบังคับ สั่งห้าม หรือปิดกั้นนี้ควรจะเป็นแค่มาตรการชั่วคราวสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะสุดท้ายการจะทำให้ภาพอนาจารหมดไปจากโลกอินเทอร์เน็ตหรือแม้แต่ยกเลิกไม่ให้ใช้อินเทอร์เน็ตไปเลย มันก็คงจะไม่ใช่คำตอบสำหรับประเทศไทยเราที่ได้หมุนตามโลกศตวรรษที่ 21 นี้มาไกลจนเกินกว่าจะย้อนกลับไปได้แล้ว ทางออกที่ยั่งยืนมากกว่านั้นมีอยู่แน่นอนครับ ไม่ใช่การใช้คำสั่งบังคับให้ทำตาม แต่เป็นการใช้เหตุและผลจูงใจให้คนสมัครใจที่จะทำตามเอง แน่นอนว่าวิธีหลังนี้ไม่ง่ายและต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล แต่ทางหมื่นลี้ย่อมต้องเริ่มจากก้าวแรก ในโลกที่หมุนไปข้างหน้าอยู่ทุกวันนี้ก็คงจะอยู่ที่พวกเราล่ะครับว่าจะเลือกไปทางไหน ระหว่างถอยหลังย้อนกระแสโลก หรือจับมือกันร่วมเดินหน้าไปพร้อม ๆ กับประชาคมโลกทีละก้าว ๆ อย่างมั่นคง. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ ทางออกหรือทางตัน ? – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related