ผมอ่านเจอเรื่องนี้ในเว็บไซต์ด้านไอทีชื่อดังอย่าง  Mashable.com  ทำให้ต้องรีบไปหาอ่านเรื่องเพิ่มเติมจากเว็บไซต์อื่น ๆ ทีเดียวครับ  ถ้าท่านผู้อ่านได้เห็นแอพชื่อ Trees for Cars ในกูเกิลเพลย์หรือในแอพสโตร์ ซึ่งคุณอาจจะมองมันด้วยความรู้สึกกลาง ๆ “ทำไมจะต้องสนใจ” หรือ “ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ” เพราะฉันไม่ได้อยากใช้คาร์พูลหรือใช้รถร่วมกับใคร หรือถ้าคุณเป็นโปรแกรม  เมอร์อยู่แล้ว คุณอาจจะคิดว่า อืม…ก็เคยคิดจะทำนะ ตอนสมัยเรียน แต่สุดท้ายก็โยนไอเดียนี้ทิ้งไป ไม่ได้หยิบมาทำจริง ๆ  จัง ๆ แอพอันนี้อาจจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ตั้งแต่ในสมัยเมื่อประมาณ 15-16 ปีที่แล้ว ในช่วงที่น้ำมันกระโดดจากลิตรละไม่ถึงสิบบาทมาเป็นลิตรละ 20-30 บาท ซึ่งตอนนั้นหลายคนเริ่มหันมาสนใจการใช้วิธีคาร์พูล หรือรวมรถกันไป แต่ในยุคนั้นเรา ยังไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตสะดวกสบายเหมือนอย่างในทุกวันนี้ ถ้าจะหาคนไปด้วยอาจจะต้องเข้าไปโพสต์ไว้ในเว็บบอร์ด แล้วติดต่อกันผ่านทางอีเมล หรือโทรศัพท์คุยกันหลายขั้นตอน กว่าจะได้รวมรถกันไป แต่เมื่อโทรศัพท์มือถือกับอินเทอร์เน็ตกลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับคนในยุคนี้ บวกกับแนวคิดของอะไร ๆ ก็ กรีนในยุคนี้ ทำให้แอพนี้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง แต่เรื่องราวของแอพนี้ยังไม่จบแค่นั้น ถ้าผมจะบอกว่า คนคิดและเขียนแอพนี้คือ คนไร้บ้านคนหนึ่งในนิวยอร์ก ไม่ใช่เป็นโปรแกรมเมอร์หรือนักเรียนที่เรียนเขียนโปรแกรมจากโรงเรียนใด ๆ คุณคิดว่า น่าสนใจไหมครับและถ้าบอกเพิ่มอีกว่า คนไร้บ้านที่ชื่อ ลีโอ แกรนด์ คนนี้ ใช้เวลานับแต่เริ่มเขียนโปรแกรมจนปล่อยโปรแกรมนี้ออกมา ใช้เวลาทั้งหมดเพียงสามเดือนครึ่งเท่านั้น คุณคิดว่า น่าสนใจพอหรือยังครับ ถ้ายัง ผมจะเล่าต่อว่า การทำให้ลีโอ แกรนด์สามารถทำแอพอันนี้ออกมาได้ เกิดจากโปรแกรมเมอร์อายุ 23 ปี คนหนึ่งที่ยอมตื่นเช้าขึ้นวันละหนึ่งชั่วโมง เพื่อแวะไปสอนแกรนด์ให้เขียนโปรแกรมทุก ๆ เช้าก่อนไปทำงาน จนแกรนด์สามารถสร้างแอพอันนี้ออกมาได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เริ่มน่าสนใจแล้วครับโปรแกรมเมอร์อายุ 23 ปี ที่สอนแกรนด์ให้เขียนโปรแกรม มีชื่อว่า แพทริก แม็คคอนล็อก ซึ่งไม่ได้มองคนไร้บ้านอย่างลีโอแค่เพียงผ่านเลยไป โปรแกรมเมอร์หนุ่มคนนี้มองถึงพลังในตัวคนทุกคน และมองถึงสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากการให้ความรู้ โดยวันหนึ่งเขาเดินไปหาลีโอในฐานะคนแปลกหน้าที่หยิบยื่นข้อเสนอให้กับคนไร้บ้านคนหนึ่ง ด้วยตัวเลือกสองตัว คือ 1. พรุ่งนี้เขาจะกลับมา พร้อมกับเอาเงินมาให้หนึ่งร้อยดอลลาร์โดยไม่ต้องทำอะไร หรือ 2. พรุ่งนี้เขาจะกลับมาพร้อมหนังสือจาวาสคริปต์สามเล่มและคอมพิวเตอร์แล็บท็อปราคาถูกหนึ่งเครื่อง และจะมาสอนเขียนโปรแกรมให้วันละหนึ่งชั่วโมงทุกเช้า และเมื่อแพทริกกลับมาในวันรุ่งขึ้น คำตอบที่เขาได้รับ คือ หนุ่มไร้บ้านที่ชื่อลีโอคนนี้ เลือกตัวเลือกที่สอง ซึ่งหมายถึงว่า หลังจากนั้นทุกวันก่อนไปทำงาน แพทริกจะมานั่งสอนให้ลีโอเขียนโปรแกรม โดยตั้งความหวังว่า ลีโอจะสามารถเขียนโปรแกรมและหารายได้จากการเขียนโปรแกรมได้ ทั้งสองใช้เวลานับแต่เริ่มจากศูนย์ คือ วันที่ 21 สิงหาคม ที่แพทริกตัดสินใจจะเริ่มสอนลีโอ จนถึงวันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งเป็น วันที่กูเกิลเพลย์เริ่มปล่อยให้ดาวน์โหลดโปรแกรม นับเป็นเวลาสามเดือนกว่า ๆ ที่น่ามหัศจรรย์ของการให้และความตั้งใจที่จะรับ จนเกิดต้นแบบของการให้การศึกษากับคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ณ เวลานี้ แพทริกได้ทำโครงการเพื่อสอนคนอื่นให้เขียนโปรแกรมในชื่อโครงการ Journeyman โดยใช้เรื่องราวของลีโอเป็นต้นแบบ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถหารายละเอียดได้จาก http://journeymancourse.com/  ผมหวังว่าเรื่องราวดี ๆ แบบนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคน ลุกขึ้นมาทำความดี แบ่งปัน หยิบยื่นโอกาสให้แก่ผู้อื่น และกลายเป็นการให้ที่ไม่รู้จบต่อไป. สุกรี สินธุภิญโญ (sukree.s@chula.ac.th) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เขียนแอพแบบไร้บ้าน – 1001

Posts related