ผู้พิการทางสายตา หรือ “คนตาบอด” ในประเทศไทย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเช่นบุคคลอื่น ๆ ทั่วไป อาชีพหนึ่งที่ผู้พิการทางสายตานิยมเพราะสามารถฝึกฝน เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ ก็คือ “นวดแผนไทย” ความต้องการฝึกฝนการนวดแผนไทยของผู้พิการทางสายตาก็มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากการส่งเสริม ของศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด แต่การเรียนรู้ศาสตร์การนวดแผนไทยที่ถูกวิธี จำเป็นต้องใช้ครูสอนและฝึกฝนให้กับผู้ที่สนใจ ทางนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีคอมพิ เตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี ประกอบด้วย นายกฤษณะ โภควัฒน์ นายณัฐชนน กมลโต น.ส.กมลชนก อดิเรกธนสาร และ น.ส.มัณฑนา ปานสังข์ จึงเกิดแนวคิดที่จะประดิษฐ์ “เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา” ขึ้นมา เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเรียนรู้และฝึกฝนการนวดแผนไทยได้ด้วยตนเอง โดย มี รศ.ดร.สุวรินทร์ ปัทมวรคุณ และ อาจารย์จตุรพิธ เกราะแก้ว เป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ อาจารย์จตุรพิธ กล่าวว่า หลังจากที่มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน World Blind Union และได้พูดคุยกับ นายพรชัย กลับวิหค ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี พบว่า สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด มีความต้องการให้ผู้พิการทางสายตาที่ได้เรียนรู้และฝึกในการนวดได้ด้วยตนเอง โดยในช่วงแรก ๆ ตนและนักศึกษา ได้สร้างบทเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทบทวนการนวดด้วยตนเอง แต่ก็หาอาสาสมัครยาก หลังจากนั้นจึงเกิดความคิดเริ่มสร้างรูปมือขึ้นมา เพื่อให้คนตาบอดสัมผัส และใช้ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้น ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดี จึงได้นำเอาผลงานมาต่อยอดเป็น “เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา” ขึ้นมา นายกฤษณะ โภควัฒน์ เป็นตัวแทนกลุ่มผู้วิจัย กล่าวว่า วิธีการและขั้นตอนการทำงานของ “เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ระบบจัดการความรู้พัฒนาอาชีพนวดแผนไทย เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในตัวโปรแกรมมีเสียงจากโปรแกรม แปลภาษาของกูเกิล หรือ กูเกิล แทรนซเลท (Google Translate) เพื่ออ่านเนื้อหาให้คนตาบอดสามารถเรียนรู้ จดจำ และสามารถทบทวนความรู้ได้ด้วยตนเอง ในโปรแกรมจะควบคุมการเลือกเมนูต่าง ๆ โดยปุ่ม สเปซ บาร์ (Space Bar) และปุ่มลูกศรเลื่อนขึ้นเลื่อนลงเพื่อง่ายต่อการใช้งานของคนตาบอด และส่วนที่ 2 เรียกว่า เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดแผนไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา ลักษณะเป็นหุ่นจำลองมีขนาดเท่ากับอวัยวะจริงของคนเรา สำหรับโปรแกรมระบบจัดการความรู้พัฒนาอาชีพนวดแผนไทยเพื่อผู้พิการทางสายตา ประกอบด้วยเมนู 3 เมนู คือ 1. เมนูความรู้เกี่ยวกับการนวด วิธีการนวด การจับ การกดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแบ่งการนวดออกเป็น 2 ประเภท คือ การนวดไทยบำบัด เป็นการนวดตามตำราการนวดแผนไทย เป็นไปตามธาตุของร่างกายตามอาการที่ต้องการแก้ไข และการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เป็นการนวดที่ผสมผสานวิธีการนวดในส่วนต่าง ๆ เกือบครบทุกส่วนของร่างกายมารวมกันเป็นกระบวนท่า และเมนู 2. คือ ความรู้เกี่ยวกับสรีระและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หน้าที่ของอวัยวะนั้น ๆ รวมไปถึงตำแหน่งของอวัยวะ ภายในร่างกาย โดยนำเสนอในรูปแบบของรูปภาพของสรีระโดยรวมแล้วใช้การชี้โยงเพื่อให้ทราบว่าอวัยวะใดอยู่ส่วนไหนของร่างกาย ซึ่งผู้นวดจำเป็นต้องทราบถึงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการนวด ส่วน เมนูที่ 3. คือ แบบทดสอบ เป็นการรวบรวมข้อสอบเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาหรือผู้ใช้ ได้ทำการวัดผลความรู้ที่ได้เรียนรู้มาจาก 2 เมนูแรก สำหรับภายในหุ่นจำลองจะทำการฝังไมโครชิพและสวิตช์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ในการสอนเรื่องเส้นประธานทั้งสิบสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งหุ่นจำลองจะบอกชื่อจุดต่าง ๆ เมื่อผู้พิการทางสายตาทำการกดสวิตช์ที่ตัวหุ่น ไมโครชิพก็จะประมวลผลจากสวิตช์ที่ทำการกด โดยค่าที่ได้จะไปเปรียบเทียบกับค่าในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หากค่าที่ได้ตรงกันจะมีการออกเสียงตามจุดนั้น ๆ ของเส้นประธานทั้งสิบ โดยใช้โปรแกรม วิชวล สตูดิโอ (virtual studio) ในการออกแบบ และใช้ภาษาซี ในการเขียนโปรแกรม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำหุ่นการนวดไทยบำบัดเพื่อรักษาโรค และหุ่นเพื่อการนวดไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับหุ่นการสอนเส้นประธานทั้งสิบ นายกฤษณะ กล่าวต่อว่า ได้นำผลงานไปทดสอบที่ศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี โดยผู้อำนวยการศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้พิการทางสายตาแบบลางเลือน ก็พอใจในผลงานต้นแบบที่พัฒนาขึ้น ถ้าสามารถนำไปใช้งานจริงจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้พิการทางสายตาได้มาก ทั้งนี้ทีมพัฒนาได้นำผลงานชิ้นนี้ส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม และรางวัลนวัตกรรมยอดนิยม จากโครงการ “Brand’s GEN 6 ฉลาดคิดไร้ขีดจำกัด” และได้ทำการจดสิทธิบัตรส่วนหุ่นจำลองอวัยวะคนที่ใช้สอนนวด และจดลิขสิทธิ์ในส่วนโปรแกรมแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่า การดำเนินการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งเน้นกำไร แต่เป็นการทำเพื่อบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ทาง มทร.ธัญบุรี ให้ความสำคัญมาก.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เครื่องสอนนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา – ฉลาดสุด

Posts related