นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด เพื่อเตรียมเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 12 มิ.ย.57 และจัดทำยุทธศาสตร์งบประมาณรายจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 15 ก.ค.57 ก่อนจัดทำร่างเพื่อเสนอฝ่ายนิติบัญญัติ (คสช.) ในวันที่ 29 ก.ค.57 เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 58 มีบังคับใช้ทันวันที่ 1 ต.ค.57 ทั้งนี้ สมมติฐานการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายปี 58 ได้คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 58 ที่ 4% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.3% โดยภาพรวมงบประมาณรายจ่ายยังคงใกล้เคียงปี 57 ที่เป็นการขาดดุลงบประมาณในช่วง 200,000-250,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนงบลงทุนที่ 17.5% ของรายจ่ายโดยรวมเท่ากับปีก่อน ส่วนงบประมาณรายจ่ายภาพรวมนั้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท และรายได้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ จนกว่าจะนำเข้าเสนอ คสช. ในที่ 12 มิ.ย.นี้ “สำนักงบประมาณยังต้องทำงบแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 58 เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างน้อย 4% แต่ก็ยังยืนยันกรอบการทำงบประมาณรายจ่าย ที่เป็นงบแบบสมดุลภายในปี 60 เช่นเดิมที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยงบประมาณรายจ่ายปี 58 นั้น จะเน้นไปที่รายจ่ายลงทุนเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายได้ตามสมมุติฐานที่วางไว้ ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการลงทุนบริหารจัดการโครงการน้ำ 350,000 ล้านบาท จะหารืออีกครั้ง เพื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งหลายโครงการก็มีความจำเป็น เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ในส่วนนี้ก็ยังต้องคงงบลงทุนไว้ ซึ่งแผนโครงการว่ารายละเอียดอะไรบ้างจะหารือในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์งบประมาณทั้งหมดก่อนเสนอ คสช.เช่นกัน” รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำหรับการหารือของ 4 หน่วยงาน ได้เสนอสมมุติฐานตัวเลขจีดีพีที่ไม่ตรงกัน แต่ได้ข้อสรุปร่วมกันที่ 4% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ส่งผลให้จำเป็นต้องปรับตัวเลขการขาดดุลงบประมาณ เพื่อเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณเป็น 250,000 ล้านบาท จากเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอว่าขาดดุลที่ 200,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ตัวเลขเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาทก็เป็นเรื่องที่ยากเกินไป ซึ่งจะต้องมีการปรับลดตัวเลขรายได้ลง ทำให้วงเงินขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เคาะจัดทำงบประมาณปี 58

Posts related