เงินสะพัดสินค้าม็อบอุณหภูมิทางการเมืองที่เร่งเครื่องความร้อนขึ้นมา ณ นาทีนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะย่าน 7 จุดที่ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” นั้นร้อนแรงไปตาม ๆ กันทั้งในด้านบวกและด้านลบ นอกจากจะทำให้บรรยากาศการค้าขายของผู้ประกอบการธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ซบเซาลงไปเพราะประชาชนไม่มีอารมณ์จะจับจ่ายใช้สอย ทำให้กำลังซื้อหดตัวลงแต่ในทางกลับกันส่งผลดีแก่พ่อค้าแม่ค้าบางกลุ่มแบบสุด ๆ ที่โหนกระแสได้ถูกจังหวะถูกสถานที่ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการนำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมาจำหน่ายสร้างรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ “ลำดวน  ช่างทองคำ” แม่ค้าขายนกหวีดและสินค้าเชิงสัญลักษณ์ในการชุมนุม อาทิ ที่คาดผม สายรัดข้อมือ และสินค้าลายธงชาติอื่น ๆ กล่าวว่าตนเองเป็นแม่ค้าขายชุดนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร แต่อาศัยจังหวะที่มีการชุมนุมหันมาขายสินค้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในตอนเย็น สร้างรายได้วันละ 4,000– 5,000 บาท และย้ายมาขายที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 13 ม.ค. มองว่ามีโอกาสทำรายได้สูงกว่าปกติซึ่งตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายวันนี้ขายได้ไปแล้ว 6,000 บาท!! นกหวีดยอดนิยม ทั้งนี้สินค้าที่ขายดีที่สุดนั่นคือ “นกหวีด” ซึ่งทำกำไรได้กว่า 20% จากราคาทุนและมียอดขายต่อบิลเฉลี่ยคนละ 100 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับม็อบคราวอื่น ๆ คาดว่าเป็นเพราะผู้มาชุมนุมเป็นผู้ที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไปจึงมีกำลังซื้อดี จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่านอกเหนือจากนกหวีด ที่คาดผมหรือสินค้าทั่วไปแล้วยังมีสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก อาทิ สติกเกอร์ลาย “ลุงกำนันสุเทพ” ที่ได้รับความนิยมพุ่งสูงทันที ยิ่งร้านค้าไหนสามารถหาสินค้าแปลกมีดีไซน์ที่แตกต่างจะได้รับความนิยมจนสินค้าไม่พอจำหน่ายเลย “ผกาทิพย์  แย้มประยูร” สาวชาวสุราษฎร์ธานี เล่าให้ฟังว่าเดิมทีจะขึ้นมาชุมนุมเพียงอย่างเดียวแต่เห็นโอกาสดีที่จะหารายได้เสริมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการมาร่วมการชุมนุม รวมถึงนำรายได้บางส่วนสมทบทุนกับ กปปส.จึงพิมพ์เสื้อลายกรุงเทพชัตดาวน์มาจำหน่ายที่บริเวณเวทีชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว 500 ตัว ในราคาตัวละ 150 บาท ซึ่งเมื่อหักลบต้นทุนแล้วได้กำไรถึง 30% ถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุน “เสื้อเป็นสินค้าที่ขายได้อยู่แล้วทุกการชุมนุม ที่บ้านก็ทำธุรกิจนี้อยู่เลยลองนำมาขายดูปรากฏว่าผลตอบรับดีมากถึงจะมีคนขายแข่งกันเยอะก็ไม่กังวลว่าจะขายไม่หมดมองว่าแม้จะเลยวันปิดกรุงเทพฯ ไปแล้วคนยังหาซื้อไว้สะสมเพราะ 13 ม.ค. กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ไปแล้ว” ด้านร้านจำหน่ายเสื้อพิมพ์ลายหน้าศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่าเปิดเผยให้ฟังถึงธุรกิจขายเสื้อในที่ชุมนุมว่า ทำยอดขายได้ดีมากโดยก่อนหน้านี้ทางร้านได้เปิดจำหน่ายมาแล้วที่เวทีราชดำเนินทำรายได้ 40,000-50,000 บาทต่อวัน และพอวันนี้ย้ายมาขายในวันกรุงเทพชัตดาวน์เพียงครึ่งวันขายได้แล้วกว่าแสนบาท ด้านพ่อค้าพวงมาลัยบริเวณสี่แยกพระพรหมก็หันมาขายข้าวกล่องสร้างรายได้ชดเชยในวันที่ต้องปิดศาลพระพรหมฯ เพราะมีการชุมนุม วินมอเตอร์ไซค์โกยรายได้ ขณะที่การเดินทางในวันที่มีการปิดกรุงเทพฯ นั้นยอมรับว่าอาจจะติดขัดบ้างในหลายพื้นที่ ทำให้หลายคนเลือกที่จะหันมาใช้บริการรถโดยสารมวลชนกันเพิ่มขึ้นส่งผลให้บริการ “วินมอเตอร์ไซค์” ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะคล่องตัวรวดเร็ว และสะดวกสบายไปได้ทุกหนแห่งโดย “บุญรัก ปรุงเผ่าพันธ์” ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์วิน ย่านอินทามระกล่าวว่า ช่วงที่มีการชุมนุมตนจะย้ายมารับบริการตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะว่าทำรายได้ดีมากอย่างต่ำสุดจะได้เงินวันละพันกว่าบาทหรือเพิ่มเป็นเท่าตัวจากรายได้ปกติโดยเฉพาะในวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา เพียงวันเดียวทำเงินได้ถึง 4,000 บาท “ถ้าวันไหนปิดถนนเยอะ ๆ รายได้จะดีมากแล้วก็อาจจะปรับเพิ่มราคาขึ้นเล็กน้อย เพราะการจราจรในช่วงนั้นจะติดมากเป็นพิเศษ เช่นจากเดิมนั่งจากจตุจักรไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 80 บาท ก็เพิ่มเป็น 100 บาท แต่วันนี้ที่ปิดห้าแยกลาดพร้าวจะได้เงินไม่มากเท่า เพราะระยะอยู่ไม่ไกลรถไฟฟ้าคนจึงนิยมเดินมากกว่า ซึ่งคาดว่าอาจจะได้เงิน 1,000 บาทเศษเท่านั้น” ด้านผู้ขี่วินมอเตอร์ไซค์ที่สี่แยกราชประสงค์กล่าวว่า วันนี้คนมาร่วมการชุมนุมเยอะเป็นพิเศษ แต่ยังไม่มีผู้มาใช้บริการมากเท่าไร อาจเป็นเพราะยังไม่ใช่เวลาเดินทางกลับ ทั้งนี้ต้องรอดูช่วงเวลาที่เลิกชุมนุมว่าจะทำรายได้เท่าไรแต่ทั้งนี้คืนวันที่ 12 ม.ค. มีผู้มาใช้บริการมากเป็นพิเศษเพราะเริ่มเคลื่อนสถานที่ชุมนุมจากราชดำเนินมายังราชประสงค์แทนโดยตั้งแต่ 11.00-04.00 น. ทำรายได้ไปแล้ว 2,500 บาท ร้านในห้างฯ ยอดทะลัก สำหรับ “ร้านอาหารและเครื่องดื่มในศูนย์การค้า” ก็มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ร้านกาแฟชื่อดังในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เผยว่า ปกติแล้วจะจำหน่ายกาแฟได้  600-800 แก้วต่อวัน แต่ในช่วงที่มีการชุมนุมขายได้เพิ่มขึ้นเป็น 900-1,000 แก้วต่อวัน ทั้งนี้คาดว่าในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันชุมนุมใหญ่จะทำยอดขายได้ถึง 130,000 บาทจากเดิมที่ขายได้ 100,000 บาทต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ในระยะที่มีการชุมนุมลูกค้าชะลอการมาใช้บริการลงเพราะไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ส่งผลให้ยอดขายตกลงเหลือเพียงวันละ 70,000-80,000 บาทเท่านั้น ด้าน ศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอที  เพาเวอร์บาย ยอมรับว่าบรรยากาศการซื้อขายไม่คึกคักแต่บรรยากาศโดยรวมทั่วไปนั้นมีผู้ชุมนุมเดินเข้ามาดูสินค้าอยู่ตลอดเวลาโดยพนักงานขาย ระบุว่าวันนี้ยอดขายลูกค้าที่มาซื้อสินค้าปกติลดลงนอกจากนี้สินค้าที่เคยขายดีในการชุมนุมครั้งก่อน อาทิ อุปกรณ์สำรองไฟโทรศัพท์มือถือหรือ เพาเวอร์แบงค์ขายได้น้อยลงแต่ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 56 สามารถขายเพาเวอร์แบงค์ได้หลาย 10 ชิ้นรายได้ส่วนนี้จึงขึ้นมาชดเชยกันได้ รถไฟฟ้าอานิสงส์ ด้าน รถไฟฟ้า เป็นอีก 1 ธุรกิจที่รับอานิสงส์ผลบวกแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าใต้ดินที่ รฟม.ถึงกับต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ขายตั๋วเต็มพิกัดทั้ง 2 ที่นั่งจากปกติที่นั่งคนเดียว พร้อมทั้งบริการขายตั๋วแบบฉีกเพื่อเร่งระบายประชาชนไม่ให้ตกค้างในทุกสถานีที่มีผู้ชุมนุมมีผู้มาใช้บริการแน่นตลอดทั้งจตุจักร ลาดพร้าว พหลโยธิน บางซื่อ สุขุมวิท ได้นำรถไฟฟ้าที่มีอยู่ออกมาวิ่งทุกคัน 57 โบกี้ 29 ขบวนและเดินรถให้ถี่ขึ้นทุก 3 นาทีต่อขบวน ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นยังมีคนมาใช้บริการน้อยกว่าที่คาดไว้โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนช่วง  08.00-09.00 น. แต่ก็เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเพราะความไม่สะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง และส่วนหนึ่งหยุดงาน แต่ก็ได้ติดตามสถานการณ์ทั้งวันเพื่อปรับลดหรือเพิ่มขบวนรถไฟฟ้าให้สอดคล้องตามปริมาณผู้ที่มาใช้บริการแต่เน้นให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกวิกฤติกำลังซื้อให้เป็นโอกาสของผู้ขายในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองที่ถึงแม้จะเป็นเพียงเวลาอันสั้น ๆ แต่หากสามารถปรับตัวรับทันก็พุ่งได้ฉิวตามสุภาษิตที่ว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก!!. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เงินสะพัดสินค้าม็อบ

Posts related