นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 57 เท่ากับ 107.90 สูงขึ้น2.62% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 56ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 2.69%   ส่งผลให้เงินเฟ้อช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2557 สูงขึ้น 2.21% เนื่องจากได้รับกระทบจากราคาสินค้าอาหารและเป็นช่วงเปิดเทอมทำให้ชุดนักเรียนรวมถึงอุปกรณ์การเรียนปรับตัวสูงขึ้น                ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ราคาเพิ่ม 8.03%, ไข่และผลิตภัณฑ์นม 2.34%, เครื่องประกอบอาหาร 5.22%, อาหารบริโภคนอกบ้าน 5.82%, อาหารบริโภคในบ้าน 5.06%  ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.68% สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 5.70% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก 1.73% เบียร์ เหล้า บุหรี่ 6.22% เป็นต้น                สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วงครึ่งปีแรกจะสูงขึ้น 2.25% สูงกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าเงินเฟ้อครึ่งปีแรกจะสูงขึ้น2.2% ส่วนครึ่งปีหลังต้องติดตามทิศทางการควบคุมดูแลราคาสินค้าและทิศทางค่าเงินบาทหากอ่อนตัวมากก็จะทำให้การนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นและสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปี 57 คงเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้2-2.8%              ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. ของทุกปีจะเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาทั่วประเทศ  ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อเครื่องแบบนักเรียนใหม่ให้แก่บุตรหลาน ในปีการศึกษาใหม่ โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่า  ผู้ผลิตรายเล็กได้มีการปรับราคาชุดนักเรียนสูงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ในขณะที่ผู้ค้ารายย่อยที่ซื้อชุดนักเรียนโดยผ่านพ่อค้าคนกลาง จำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายชุดนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นโดยปรับราคาสูงขึ้นจากเดิม 5  – 20บาทต่อตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของชุด จะส่งผลให้ราคาชุดนักเรียนโดยเฉลี่ยทั้งประเทศในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น 3.3%  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศปรับตัวสูงขึ้นเพียง  0.0054%           “ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตรายใหญ่ให้ตรึงราคาชุดนักเรียนโดยขอให้จำหน่ายชุดนักเรียนในราคาเดิม และผู้ผลิตรายใหญ่ได้ให้ความร่วมมือแม้ว่าจะมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรงงาน  ค่าวัตถุดิบ และค่าบริหารจัดการที่มีการปรับราคาสูงขึ้นตลอดเวลาโดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ขอปรับราคาสูงขึ้นและจำหน่ายชุดนักเรียนในราคาเดิม” 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เงินเฟ้อเดือน พ.ค. สูงสุด 14 เดือน

Posts related