ในครั้งที่แล้ว ผมได้เล่าถึงแผนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มยูโรโซนที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่วิกฤติเศรษฐกิจจะย้อนรอยกลับมาอีกในยุโรป มาในครั้งนี้ ขออนุญาตกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปของเศรษฐกิจจีนบ้างหลังจากที่เพิ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดของ การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปิดฉากไปก่อนหน้านี้ไม่นานครับ เริ่มแรก จะขอปูพื้นถึงโจทย์สำคัญต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่ทางการจีนกำลังเผชิญอยู่ ดังนี้ครับ …หลังจากที่เศรษฐกิจโลก รวมถึงจีนได้ถูกกระทบจากวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐในปี พ.ศ. 2551 ทางการจีนก็ได้พยายามฟื้นเศรษฐกิจโดยมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังต่าง ๆ ซึ่งมาตรการทางการเงินนั้น รวมไปถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการให้สถาบันการเงินเร่งขยายสินเชื่อ   ส่วนมาตรการทางการคลัง ได้แก่ การให้รัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นเร่งเดินหน้าในโครงการลงทุนต่าง ๆ ทั้งนี้ แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจจีน สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ แต่การขยายสินเชื่อที่รวดเร็วก็นำมาสู่ประเด็นเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ   ขณะเดียวกัน การลงทุนจำนวนมาก ยังนำมาสู่ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นจากการระดมเงินเพื่อนำไปสร้างโครงการต่าง ๆ ก็กลายเป็นประเด็นที่อาจนำมาสู่ความเสี่ยงได้ ในขณะเดียวกัน จีนยังเผชิญกับโจทย์ทางด้านสังคม อาทิ ประชากรของจีนที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ไม่ได้รับสิทธิทางด้านสวัสดิการสังคม เนื่องจากเป็นแรงงานต่างถิ่นที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองนั้น ๆ ในขณะที่ประชากรในเมืองเอง ก็มีภาระจากราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้รวมถึงยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่รัฐบาลให้สวัสดิการเฉพาะข้าราชการ นอกจากนี้ อัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำ เนื่องมาจากการควบคุมของทางการนั้นยังทำให้อีกไม่นานนี้ จีนคงจะต้องเผชิญกับโจทย์ของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ  ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวได้ค่อนข้างจำกัด  ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจำต้องพึ่งการลงทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากประเด็นด้านสวัสดิการสังคมแล้ว ยังมีประเด็นด้านการจัดสรรสิทธิการใช้ที่ดินซึ่งอำนาจอยู่ในมือของรัฐบาลท้องถิ่นที่มักจะอนุมัติสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อการก่อสร้าง, โครงการอสังหาฯ และการลงทุนของภาคธุรกิจ มากกว่าการพัฒนาด้านการเกษตร เพราะรัฐบาลได้รับผลตอบแทนมากกว่า แต่ก็ส่งผลให้การขยายการผลิตทางการเกษตรเผชิญกับข้อจำกัด และกระทบเป็นลูกโซ่มายังราคาอาหารและภาวะเงินเฟ้อ จากโจทย์ที่เผชิญต่าง ๆ เหล่านี้ ทางการจีนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อที่จะให้การขยายตัวในช่วงข้างหน้ามีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ สาระสำคัญโดยสรุปของแผนการปฏิรูปล่าสุดครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 1. การให้ความสำคัญต่อกลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจ เช่น ลดบทบาทและการแทรกแซงของภาครัฐในการกำหนดราคาสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ 2. การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ที่ให้สิทธิแก่ประชากร และแรงงานที่ไปทำงานต่างถิ่นอย่างทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงการปฏิรูประบบการให้สิทธิในการใช้ที่ดิน 3. การปฏิรูปการคลัง ซึ่งรวมไปถึงการปฏิรูปการกำกับดูแลฐานะการคลังของรัฐบาลท้องถิ่น 4. การปฏิรูปด้านการเงิน ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านอัตราดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน, การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการกำกับดูแลความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินและ 5. การปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงการปฏิรูปนโยบายด้านประชากรอาทิ การผ่อนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนการมีบุตร จากเดิมที่จำกัดไว้ที่เพียงหนึ่งคน ผมมองว่า การดำเนินการปฏิรูปที่ครอบคลุมในหลายด้านดังกล่าว น่าที่จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนสามารถตอบโจทย์ในด้านคุณภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมถึงตอบโจทย์ในด้านสวัสดิการแก่ประชากร  ซึ่งน่าจะมีผลต่อเนื่องในการช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน การปฏิรูประบบการเงิน เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ที่คงจะทยอยเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ก็น่าจะช่วยการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ แน่นอนว่า การดำเนินการปฏิิรูปในประเด็นที่หลากหลายดังกล่าวย่อมที่จะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม จากการที่ทางการจีนได้หันไปเน้นประเด็นด้านคุณภาพของ การเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าขนาดของอัตราการขยายตัว ทำให้คาดได้ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงข้างหน้าคงจะไม่หวือหวา แต่น่าที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ประเด็นด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งในด้านการเงิน การคลัง ก็น่าที่จะแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลดี ทั้งต่อเศรษฐกิจจีนและต่อเศรษฐกิจต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงไทย ที่ล้วนมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญทั้งสิ้นครับ. ดร.เชาว์ เก่งชน ck.at.kr@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เจาะแผนปฏิรูปเศรษฐกิจจีน…เป้าหมายการขยายตัวอย่างยั่งยืน – โลกการเงิน

Posts related