วันนี้(19 ธันวาคม)ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)อาคารจัตุรัสจามจุรี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกับ อพวช.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จัดแถลงข่าวเปิดตัว“โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี” พร้อมทั้งเปิดตัวหนังสือ “PolarHarmony” ที่อพวช. จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับบรรยากาศสิ่งมีชีวิตและภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ณ ดินแดนขั้วโลกใต้ เพื่อเผยแพร่แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ศาสตราจารย์ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และรองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดากุมารี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติก ในปีพ.ศ. 2532  โดยเสด็จฯ เยือน และทรงประทับ ณสกอตต์เบส (Scott Base) ซึ่งเป็นสถานีวิจัยของประเทศนิวซีแลนด์และได้ทรงเยี่ยมสถานีวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกาทรงทอดพระเนตรการศึกษาวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา  ภายในสถานีวิจัยทั้งสองและพื้นที่ใกล้เคียง  ทั้งด้านชีววิทยา ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยาสภาวะแวดล้อม ฯลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะมีโครงการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้เดินทางไปทำงานวิจัยที่ขั้วโลกใต้อย่างสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์ในด้านวิชาการ และการสร้างองค์ความรู้  นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริว่า หากได้ร่วมมือกับประเทศจีนก็จะเป็นการดีเพราะทรงเสด็จฯเยือนจีนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว   ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่6-11 เมษายน 2556  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้เสด็จฯเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานบริหารกิจการทางทะเล (State OceanicAdministration) กรุงปักกิ่ง และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polarresearch Institute of China) ที่นครเซี่ยงไฮ้  ซึ่งสถาบันทั้งสองได้ถวายการต้อนรับเป็นอย่างดี  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในด้านการวิจัยขั้วโลก  ในการนี้ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สวทช.สนองพระราชดำริ ใน โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สวทช. และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการวิจัยขั้วโลก(Chinese Arctic and Antarctic Administration: CAA) สังกัดสำนักงานบริหารกิจการทางทะเลของจีนเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ทั้งนี้กิจกรรมแรกของโครงการฯคือการส่ง2 นักวิจัยหญิงไทย ที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้นักวิจัย 2 ท่าน คือรศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ และ ผศ.ดร.อรฤทัยภิญญาคง จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกจีนครั้งที่30 หรือ CHINARE30 (30th Chinese Antarctic ResearchExpedition) ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 15กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยทั้งสองท่านจะไปทำงานวิจัยที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์ (GreatWall Station) ซึ่งเป็นสถานีวิจัยของจีนที่ขั้วโลกใต้  โดยจะออกเดินทางก่อนสิ้นปีนี้  เพื่อศึกษาวิจัยดินขั้วโลกใต้และศึกษาวิจัยทางทะเลที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ด้านศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์   หารหนองบัวคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมอีกครั้ง ในการเดินทางเพื่อการศึกษาวิจัยพื้นที่ขั้วโลกใต้โดยครั้งแรกนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ   วิยกาญจน์   ได้รับการคัดเลือกจากสวทช. ให้เป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรก ที่เข้าร่วมสำรวจทวีปแอนตาร์กติก   ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกญี่ปุ่นที่ 46 ในเดือนพฤศจิกายน2547  และในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552  รศ. ดร.สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์คนที่สองจากมหาวิทยาลัย และเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ร่วมเดินทาง เพื่อทำวิจัยกับคณะสำรวจ JARE-51(จาเร่51) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบัน สำหรับการวิจัยครั้งนี้ ดร.สุชนาชวนิชย์ ได้วางแผนการศึกษา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลทวีปแอนตาร์กติก” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่จากการเก็บตัวอย่างเมื่อปี2547/2548และปี 2552/2553  และได้วางแผนที่จะดำน้ำลึกโดยใช้ชุดดำน้ำแบบแห้ง(dry suit) เพื่อสังเกตพฤติกรรมพร้อมเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต  รวมถึงกำหนดเก็บตัวอย่างดินและดินตะกอนในทะเลด้วย   ส่วนดร.อรฤทัย ภิญญาคง นั้น  จากการศึกษาตัวอย่างดินตะกอนจากสถานีวิจัยโชว์วะและพื้นที่ใกล้เคียงของดร.สุชนา ชวนิชย์ มาทำการศึกษาในเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2554  ซึ่งพบว่ามีจุลินทรีย์หลายชนิดที่มีประโยชน์ในการศึกษาต่อในเชิงลึก  จึงกำหนดหัวข้อ “การวิเคราะห์ความหลากหลายและหน้าที่ของจุลินทรีย์ในตัวอย่างดินและดินตะกอน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าที่ของจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายทางชีวภาพของสารมลพิษต่างๆเช่น ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น  โดยคาดว่าการศึกษาดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการบ่งชี้แนวทางบำบัดสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารมลพิษในพื้นที่ศึกษารวมถึง พื้นที่อื่นที่มีอุณหภูมิต่ำได้เช่นกัน                 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เตรียมส่ง2นักวิจัยหญิงไทยเยือนขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ

Posts related