“ธุรกิจใดที่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง” คำพูดข้างต้นถือเป็นความเข้าใจง่าย ๆ ที่บ่งบอกถึงความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะการสื่อสารให้คนรู้ว่า ตอนนี้บริษัทเราขายอะไร มีกิจกรรมเพื่อตอบแทนลูกค้า รวมถึงสังคมอย่างไรบ้าง “ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์” หัวหน้าสาขาการประชาสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการเศรษฐกิจติดจอ ทาง “เดลินิวส์ทีวี” เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า แท้จริงแล้วการประชาสัมพันธ์ คือการสร้างความสัมพันธ์ของประชาชนให้มามีส่วนร่วมรับรู้ในกิจกรรมหนึ่งขององค์กรนั้น ๆ และแตกต่างจากการโฆษณา หรือการตลาดอย่างสิ้นเชิง เพราะการประชาสัมพันธ์ เป็นช่องทางที่ใช้ต้นทุนต่ำมาก หรือบางครั้งแทบไม่มีต้นทุนด้วยซ้ำ ส่วนแนวทางการทำงานต้องใช้ความสัมพันธ์ของคนไปสื่อให้เข้าใจ ซึ่งคนไทยถือว่ามีความได้เปรียบในเรื่องนี้มาก ยิ่งถ้าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี การประชาสัมพันธ์จะมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องกลับมาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี ต้องเริ่มจากเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ รับรู้ความแตกต่าง ทั้งนิสัย เชื้อชาติ เรียกได้ว่า ก่อนทำอะไร “ต้องรู้เขาก่อน จากนั้นจึงมารู้เรา” แล้วค่อยเตรียมเครื่องมือของเราที่มีเข้าไปเริ่มทำงาน หรือมีวิธีที่สะดวกกว่านั้น คือ ต้องไปหาพาร์ทเนอร์ในประเทศนั้นให้ได้ก่อนแล้วค่อยเรียนรู้ว่าการจะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายต้องทำอย่างไร “การประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องของการสร้างเนื้อหา อธิบายรายละเอียดให้คนรับรู้ เข้าใจ และประทับใจ ไม่ได้ใช้ต้นทุนมาก ยิ่งในปัจจุบันมีช่องทางการเผยแพร่มากมายที่ไม่มีต้นทุน คือ ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือทางออนไลน์ แต่การให้ข้อมูลต้องไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นการยัดเยียดข้อมูล ต้องใช้สื่อที่น่าสนใจ และต้องแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่า การประชาสัมพันธ์ไม่ได้มีเพื่อเป็นช่องทางเอาของมาขาย แต่เป็นช่องทางเสนอรายละเอียด อธิบาย สร้างความสัมพันธ์เพื่อให้มีคนชื่นชมบริษัทของเรา หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กรในสายตาของผู้บริโภค”    อย่างไรก็ตามการประชาสัมพันธ์… ใช่ว่าจะทำแล้วเห็นผลสำเร็จในทันที เพราะกระบวนการต่าง ๆ ต้องใช้เวลาถ้าเทียบกับการใช้ชีวิตของคน ซึ่งเหมือนกับการจีบสาวสักคนหนึ่ง จะทำอย่างไรให้เขารับรู้ได้ว่า เราจริงใจและมั่นคง สร้างความสบายใจให้กับคนคนนั้นได้ โดยอาจเพ้อฝันบ้าง แต่ไม่ใช่การโกหก หรือสร้างเรื่องราวปลอม ๆ ขึ้นมา ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นหัวใจของการประชาสัมพันธ์    “ดร.สุทธนิภา” บอกว่า การประชาสัมพันธ์ของไทยยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกหลายอย่าง เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการที่เสนอ โดยผู้บริหารและตัวพนักงานต้องรู้รายละเอียดทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมี รู้ถึงความสำคัญของสินค้า หรือการบริการ และรู้ว่าต้องทำอะไร นำเสนออย่างไรให้คนได้รับรู้และเกิดความประทับใจ ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้ยังเป็นข้อด้อยของไทยอยู่ ต่อมาเมื่อได้ประชาสัมพันธ์ออกไปแล้ว ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามักเห็นว่า หลาย ๆ บริษัทได้ประชาสัมพันธ์แล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่ได้กลับมาย้ำให้คนได้รับรู้ว่า ตอนนี้บริษัทเรามีกิจกรรมอะไร ทำให้เป็นตัวฉุดธุรกิจให้ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ และสุดท้ายเมื่อทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ งบประมาณก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาก หากทำได้จริง แน่นอนว่าการทำธุรกิจจะราบรื่นอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากวัดฝีมือของการประชาสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ไทยยังคงเป็นรองสิงคโปร์ และมาเลเซียอยู่อีกมาก เพราะไทยยังไม่ได้เข้าใจหลักการประชาสัมพันธ์อย่างแท้จริง ตัวอย่างง่าย ๆ คือภาพยนตร์โฆษณาไทย นัดแสดงเป็นคนไทยแสดงหมด แต่ถ้าเป็นมาเลเซียในโฆษณาตัวเดียวจะมีทั้งนักแสดงที่เป็นคนมาเลย์ คนจีน และฝรั่งแสดงอยู่ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งการแก้ไข ประเทศไทยก็สามารถทำได้ และอาจทำได้ดีกว่าถ้าทำอย่างจริงจัง เพราะนิสัยคนไทยเข้ากับใครก็ได้ สร้างความสัมพันธ์ได้ไม่ยาก แต่ถ้ายังไม่เริ่มก็คงไม่ประสบความสำเร็จ ’อยากให้คนไทยมองดูจุดเด่นของเราให้เจอ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ถ้าจะขายสินค้าก็ต้องอธิบายเรื่องราวของสินค้า มีที่มาที่ไปอย่างไร สร้างจุดสนใจ ยิ่งถ้าเป็นสินค้าของท้องถิ่น หรือสินค้าโอทอปแบรนด์ไทย มีเรื่องราวที่น่าสนใจในตัวอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หยิบยกมาอธิบายให้เกิดความน่าสนใจ จึงต้องเร่งสร้างช่องทางประชาสัมพันธ์ในทันที เพื่อพาธุรกิจให้เติบโต“ อาจารย์สุทธนิภา ทิ้งท้าย.  วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เพิ่มบทบาทประชาสัมพันธ์สู่ตลาดอาเซียน – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related