ผมเคยเร่ขายฝันเรื่องการแก้ปัญหาจราจรในบ้านเราไปครั้งหนึ่งในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาวันนี้หลายหน่วยงานเริ่มตั้งใจจะแก้ปัญหาจราจรอีกครั้ง เนื่องจากเคยเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) มา พอจะเห็นว่า มีแนวคิดหลายอย่างที่ยังไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ให้เป็นรูปเป็นร่าง ยกตัวอย่างเช่น ในบ้านเรา สิ่งที่พยายามหากันและเก็บเป็นข้อมูลไว้ได้แล้วส่วนหนึ่ง คือ เวลาที่ใช้ในการผ่านถนนแต่ละช่วง ซึ่งเวลานี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากผู้ใช้รถเอง จะสามารถคำนวณได้ว่า เวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางทั้งหมดเป็นเท่าไร หากต้องเดินทางในเวลานั้น ๆจริง ๆ ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่ใหญ่ ซับซ้อน และเกิดจากหลายสาเหตุ ถ้าคุณผ่านทางด่วนบางนาขาออกตอนเย็น ๆ ประมาณช่วงที่รถจากสาธุประดิษฐ์มาบรรจบกับรถจากทางพระรามสี่ คุณจะเห็นคุณพี่ตำรวจจราจรยกป้ายคำว่า เร็ว ๆŽ พร้อมกับโบกให้คนขับรถเร่งความเร็วมากขึ้น นั่นคงเป็นเพราะการทำงานอยู่ตรงนั้นทุกวัน ย่อมรู้สาเหตุที่ทำให้รถสะสม ว่า เกิดจากรถชะลอตัวในบริเวณนั้น ถ้าคุณผ่านถนนลาดพร้าว คุณจะพบว่า อาจต้องใช้เวลาไปกับการรอเพื่อให้รถฝั่งตรงข้ามกลับรถมาตัดกระแสรถตรงในเลนของท่าน ทำให้ตำรวจจราจรต้องปิดการกลับรถในบางช่วงเพื่อให้รถไหลได้มากขึ้น ถ้าคุณใช้ถนนพัฒนาการ คุณอาจจะพบว่า รถติดสะสมบริเวณแยกที่รับรถจากทางรามคำแหงบริเวณอู่รถเมล์สาย 92 เกิดจากรถส่วนหนึ่งไม่สามารถกลับรถได้ตลอดเส้นทาง ทำให้ต้องไปกลับบริเวณแยกนั้น ซึ่งอาจต้องการจุดกลับรถเพิ่ม บนถนนหลายเส้น บ่อยครั้งรถติดสะสมเกิดจากรถจำนวนมากที่จอดรถ ถอยรถ บริเวณชุมชนริมถนน เช่น ตลาด ห้างร้าน ซึ่งอาจต้องการการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เห็นไหมครับ ปัญหาในแต่ละจุดมาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน บนถนนแต่ละเส้น ในแต่ละช่วงเวลา การแก้ปัญหาจราจรก็ย่อมแตกต่างกันไป และไม่มีคำตอบแบบเดียวที่สามารถแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครได้ทั้งหมด และนอกจากนี้ คนใช้รถใช้ถนนเอง ก็ต้องเข้าใจสภาพการจราจรในแต่ละช่วงด้วยเช่นกัน ผมอยากให้ทุกท่านลองนึกภาพประเทศญี่ปุ่น ที่ระบบขนส่งมวลชนดีมากมีรถไฟไปถึงในแทบจะทุกถนน ถ้าท่านออกจากบ้านเวลานี้ แน่นอนว่า ด้วยการเดินทางบนรถไฟ ท่านจะต้องถึงที่หมายในเวลาที่กำหนดไว้ (นั่นคือสำหรับกรณีที่ท่านตื่นตรงเวลาเพื่อไปทำงาน) และถ้าตื่นสาย หมายถึงสายแน่นอน เพราะไม่สามารถเร่งเวลารถไฟได้ เช่นเดียวกันกับการเดินทางด้วยรถยนต์ในกรุงเทพมหานคร ถ้าเรามองในอีกมุมว่า เปลี่ยนมุมมองจากคำว่า รถติด เป็นคำว่า เราควรใช้เวลาเท่าไรบนถนนแต่ละเส้น ซึ่งเรามีข้อมูลจากระบบจราจรอัจฉริยะอยู่บางส่วน (ผมยืนยันว่าที่ Traffy ของเนคเทค มีอยู่เกือบครบ) แล้ว ผู้ดูแลในแต่ละพื้นที่ช่วยกำกับให้เป็นไปตามเวลา ไม่เกินŽ ที่กำหนดไว้ ปัญหานี้ก็จะกลายเป็นเหมือนแบบกรณีการเดินทางด้วยรถไฟ ที่ผู้ใช้ทางสามารถรู้กำหนดเวลาอย่างมากที่สุดที่ต้องใช้เพื่อไปถึงปลายทางได้ ด้วยวิธีคิดและข้อมูลแบบนี้ จะทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวางแผนการเดินทางได้ล่วงหน้า หลังจากนั้นภาครัฐจะให้ผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อบอกข้อมูล วางแผนการเดินทาง ก็สุดแล้วแต่การบริหารจัดการ ระบบโครงสร้างพื้นฐานอาจซับซ้อนเล็กน้อย (ถึงปานกลาง แต่ไม่มากจนทำไม่ได้) ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถใช้ป้ายจราจรอัจฉริยะที่มีอยู่แล้ว เพื่อแสดงผลข้อมูลได้ โดยไม่ต้องติดตั้งฮาร์ดแวร์เพิ่ม หรือจะติดตั้งป้ายแบบที่เสนอไว้ในบทความนี้ก็ได้ ไม่ว่ากันครับ หลังจากนี้แล้ว การเร่งให้เวลาที่ต้องใช้ในถนนแต่ละเส้นลดลง ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละเส้นทางต้องค่อย ๆ แก้กันไป ขออย่างเดียว ตัวเลขจำนวนนาทีที่ต้องใช้ในแต่ละถนน อย่าให้ขึ้นเป็นเลขสามหลัก ก็พอแล้ว. สุกรี สินธุภิญโญ
(sukree.s@chula.ac.th)   
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เร่ขายฝันจราจร (รอบที่ 2) – 1001

Posts related