หลังจากชาวนาเกือบ ๆ ล้านรายไม่ได้รับเงินค่าขายข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลเป็นเวลาครึ่งปี ประกอบกับราคาข้าวที่ปรับลดลงอย่างมาก ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่มีอาชีพทำนา แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อแก้วิกฤติความแตกแยกทางการเมือง ทำให้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินที่ค้างชาวนา 92,000 ล้านบาทก็จบลง ดังนั้นการบ้านใหญ่อีกข้อที่หลายฝ่ายกำลังจับตาถึงแนวทางในการช่วยเหลือชาวนาเฉพาะหน้าของ คสช. คือการแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำบางพื้นที่เหลือเพียง 6,000-7,000 บาทต่อตัน สำหรับความชื้น 15% หากความชื้นสูงกว่านี้บางพื้นที่ก็มีราคาเพียง 3,000-4,000 บาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนปลูกข้าวเฉลี่ยที่ 5,000-9,000 บาทต่อตันแล้ว สาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำหลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวสิ้นสุด คือ ชาวนาถูกกดราคารับซื้อข้าวจากโรงสีอย่างหนัก ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำ จากปัจจัยของราคาตลาดโลกที่หลายประเทศต่างแข่งกันดัมพ์ราคา เพื่อครองส่วนแบ่งตลาด และปัจจัยการเร่งระบายข้าวหลายสิบตันของไทยเพื่อเร่งนำเงินไปจ่ายหนี้ชาวนา อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่นอนแล้ว คสช. คงไม่กลับไปใช้นโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูง ๆ เหมือนกับรัฐบาลชุดก่อนที่เคยซื้อทุกเมล็ด ราคาตันละ 15,000 บาท จนต้องขาดทุนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทไปแล้ว ที่สำคัญการบิดเบือนกลไกตลาดยังได้ทำลายการพัฒนาข้าว และทำลายคุณภาพข้าวไทยในสายตาของคนทั่วโลก เห็นได้จากเรื่องของการประกวดข้าวที่อร่อยและดีที่สุดในโลกระยะหลัง ๆ พบว่าข้าวของกัมพูชา และข้าวพม่า แซงหน้าข้าวหอมมะลิไทยไปแล้ว ขณะที่ข้าวหอมเวียดนามก็พัฒนาคุณภาพขึ้นมาเรื่อย ๆ จนแย่งตลาดในต่างประเทศหลาย ๆ ตลาดเช่นกัน เมื่อแนวทางการเข้าไปแทรกแซงราคาข้าวที่สูงกว่าตลาดมาก ๆ ถูกตัดทิ้งเพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อกลไกตลาด ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือชาวนาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตของชาวนา เพื่อให้เกษตรกรสามารถมีกำไรจากการทำนาได้ โดยเฉพาะรูปแบบพัฒนาระยะยาวทั้งพันธุ์ข้าว เพิ่มผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น การลดต้นทุนชาวนา และเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยเพื่อหนีคู่แข่งอย่างเวียดนาม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตหากราคาข้าวตกต่ำมาก ก็อาจจะมีการนำนโยบายการแทรกแซงตลาดมาใช้บ้างเพื่อไม่ให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำมากขึ้น แต่คงไม่มีการรับซื้อแบบราคาสูงกว่าตลาด 40-50% เหมือนเช่นที่ผ่านมา “ระวี รุ่งเรือง” ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ระบุว่าที่ผ่านมาชาวนาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว และราคาข้าวเปลือกก็กลับมาตกต่ำอีก อย่างไรก็ตามเมื่อ คสช. เข้ามาก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายชาวนาได้ ซึ่งตรงนี้ลดปัญหาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่จะมาตามคือข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกมาจำนวนมาก หากไม่มีมาตรการอะไรมารองรับก็จะซ้ำเติมความเดือดร้อนให้ชาวนาอีกระลอกจากที่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาราคาข้าวตกต่ำมาก เบื้องต้นทางเครือข่ายชาวนาไทย ได้เสนอทางแก้ปัญหาราคาข้าว 3 ข้อ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว โดยในระยะสั้น ด้วยการให้ คสช. ช่วยเหลือส่วนต่างของราคาข้าวเพิ่มตันละ 3,000 บาท หากชาวนาได้เงินในระดับ 10,000 -12,000 บาทต่อตัน ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจแล้ว โดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อตัน  แต่เมื่อ คสช. สั่งให้ชะลอการประมูลข้าว ประกอบกับราคาตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น เชื่อว่าราคาข้าวเปลือกในประเทศก็คงทยอยปรับขึ้นเช่นกัน ระยะที่ 2 คือการช่วยเหลือการให้ความรู้ และช่วยเหลือปัจจัยการผลิตทั้งเรื่องของค่าปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ค่าเช่าที่นา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้แล้วแต่จะช่วยเหลือในรูปแบบใด แต่ในเบื้องต้นภาครัฐต้องควบคุมไม่ให้สิ่งเหล่านี้มีการปรับขึ้นตามราคาข้าว ส่วนระยะที่ 3 คือการพัฒนาข้าวแบบยั่งยืน ไม่ใช่ว่าพรรค การเมืองใดมาทีหนึ่งก็เปลี่ยนนโยบายทีหนึ่งจนข้าราชการและชาวนาปรับตัวไม่ทัน ขณะที่ “วิเชียร พวงลำเจียก” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มองว่า สิ่งที่ชาวนาส่วนใหญ่ต้องการในขณะนี้คือการให้ คสช. ช่วยกำหนดแนวทางพยุงราคาข้าวเปลือกในท้องตลาด นอกเหนือจากที่ผ่านมาได้ช่วยชาวนาโดยการเร่งจ่ายเงิน 92,000 ล้านบาท เพราะว่าปัจจุบันราคาข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำ อยู่ที่ตันละ 5,000-6,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งต้นทุนการผลิตต่อไร่มีราคาสูงเกือบเท่าราคาข้าวเปลือกต่อตัน ทำให้ชาวนาต้องขาดทุนเฉลี่ยตันละ 5,000 บาท “เรื่องของราคานั้นทางสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเสนอให้ คสช. ช่วยไม่ว่าจะอุดหนุนหรือรับซื้อข้าว โดยข้าวหอมมะลิตันละ 16,000 บาท, ข้าวหอมจังหวัด 15,000 บาท, ข้าวเหนียว 13,000 บาท และข้าวขาว 5% อยู่ที่ 12,000 บาท เพราะเป็นราคาที่ชาวนาอยู่ได้และพอมีกำไรบ้าง แต่หากไม่แทรกแซงเรื่องราคาก็จะทำให้ชาวนาต้องขาดทุน 5,000 บาทต่อตัน” ขณะเดียวกันจากการสอบถามผู้ส่งออกในวงการค้าข้าว ต่างมองว่าปัญหาเรื่องของราคาข้าวที่ตกต่ำดูเหมือนจะคลี่คลายลงในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากที่ คสช. ได้ชะลอให้มีการระบายแล้วเพื่อตรวจสอบสต๊อกข้าวที่แท้จริงก่อน เพราะเมื่อไม่รีบขายก็จะเป็นเรื่องยากที่กลุ่มพ่อค้าเข้าไปถือโอกาสกดราคา  ประกอบกับหลาย ๆ ประเทศเพิ่งมีปัญหากับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้ผลผลิตข้าวทั่วโลกในปีนี้คงจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ก็จะยิ่งเป็นผลบวกให้ราคาข้าวทยอยปรับขึ้น การช่วยเหลือชาวนา ต้องสร้างความยั่งยืนและควบคู่กับแนวทางการพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก  ไม่ใช่การนำเงินภาษีมาหว่านเพียงเพื่อจะได้ใจชาวนาในระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงฐานะการเงินของประเทศ.  มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เร่งพัฒนาอนาคต ‘ข้าวไทย’ อุดหนุนปัจจัยผลิต-เพิ่มมูลค่า

Posts related