นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมแก้ไขปัญหาการจัดสรรพื้นที่บริเวณย่านพหลโยธินร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.)ว่า ที่ประชุมได้ให้ ขสมก. และบขส. ไปจัดทำกรอบระยะเวลาการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(จตุจักร)หรือหมอชิต 2 และอู่จอดรถ ขสมก.ที่อยู่ติดกันออกจากพื้นที่ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องนำไปพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต  “ตามแผนงานที่กำหนดจะต้องทยอยย้ายออกตั้งปี 58 แต่คาดว่าจะไม่ทัน เพราะขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติเลย จึงคาดว่าจะเริ่มได้จริงในปีถัดไป โดยมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงให้ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ซึ่งการก่อสร้างงานโยธาต้องเสร็จภายในปี 60 โดยปัจจุบัน บขส.ใช้พื้นที่บริเวณนี้ 73 ไร่ ส่วน ขสมก.ประมาณ 25ไร่”  นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า พื้นที่ บขส. และ ขสมก.ในปัจจุบัน ทาง ร.ฟ.ท.จะก่อสร้างเป็นโรงซ่อมและที่พักรถของรถไฟชานเมืองสายสีแดง นอกจากนั้น ร.ฟ.ท.ได้มอบพื้นที่ 12.5 ไร่ ให้ ขสมก.  แบ่งเป็นบริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อฝั่งตรงข้ามอู่เดินรถ ขสมก.ในปัจจุบัน 9 ไร่ และบริเวณศาลเยาวชนเด็กเป็นสถานีก๊าช 3.5 ไร่   นายนเรศ บุญเปี่ยม รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.ได้รับงบประมาณ 89.9 ล้านบาท เพื่อใช้ย้ายอู่จอดรถ ขสมก.ที่หมอชิต 2 ในปี 58-59 โดยประกวดราคาหาผู้รับจ้างออกแบบในเดือนก.ย.นี้ ใช้เวลาออกแบบ 6 เดือน จากนั้นเดือนมี.ค.58 จะประกาศประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างอู่จอดรถ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี หรือแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.59 โดยอู่จอดรถใหม่ในพื้นที่ 9 ไร่ จอดรถได้ 220 คัน ส่วนอีก 3.5 ไร่ มีแผนจะก่อสร้างเป็นสถานีเติมแก๊สภายในปี 60 ขณะที่การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)   นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่บขส. กล่าวว่า ได้นำผลการศึกษาโครงการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2เสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.รองหัวหน้า คสช. แล้ว ขณะนี้รอการอนุมัติจากคสช.อยู่หาก คสช.อนุมัติ บขส.จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมเสนอที่ดินในการก่อสร้างภายในเดือนส.ค.นี้และใช้ระยะเวลาการออกแบบ ก่อสร้าง และเปิดให้บริการได้ภายใน 3 ปี  สำหรับโครงการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 จะใช้พื้นที่ก่อสร้างรวม150 ไร่ มูลค่ารวม 5,000ล้านบาท แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดิน 1,500ล้านบาท เฉลี่ยไร่ละ10 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายก่อสร้าง 3,500ล้านบาท สำหรับการจัดหาพื้นที่เบื้องต้นเปิดให้เอกชนเสนอที่ดินก่อสร้าง4 พื้นที่ คือ ย่านเมืองทองธานี ย่านดอนเมืองฝั่งขาเข้าฝั่งขาออก และย่านรังสิตช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เร่งแผนย้ายขนส่งหมอชิต2

Posts related