นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้เสนอให้ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พิจารณาหลักเกณฑ์ผ่อนปรน การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย ภายหลังจากที่ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว เบื้องต้นได้เสนอ 2 แนวทาง คือ ยกเว้นการจัดเก็บภาษีโดยกำหนดจากขนาดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย หรือ ยกเว้นการจัดเก็บภาษีโดยจากราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่ง รมว.คลังจะต้องพิจารณาความเหมาะสม ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ภายในสิ้นปี 57 นี้“การประกาศยกเว้นจะต้องมีความชัดเจนก่อน ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น ยกเว้นภาษีเป็นพื้นที่เฉพาะแบบใดบ้าง และการยกเว้นจะคิดจากฐานราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือขนาด ที่ต้องพิจารณาว่าเมื่อยกเว้นไปแล้ว ผู้มีรายได้ดี มีฐานะ จะต้องไม่ได้ประโยชน์ รวมทั้ง กรณีที่การคิดอัตราจัดเก็บที่ดินรกร้างที่จัดเก็บภาษีตามอัตราทั่วไปแล้ว แต่หากยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อีกให้เสียภาษีเพิ่มอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ต่อปีของฐานภาษี อาจปรับขึ้นเป็น 4% นั้นคงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ รมว.คลัง”ทั้งนี้ หลักการ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จะยังคงยกเว้นจัดเก็บภาษี ตามที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ได้ยกเว้นไว้อยู่เดิม ยกตัวเช่น หากเห็นชอบยกเว้นภาษีโดยคิดจากขนาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะยึดตามกฎหมายเดิมที่ ยกเว้นพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่นมาก ขนาดที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100 ตารางวา เป็นต้น แต่ร่างกฎหมายใหม่ จะพิจารณาให้สิทธิยกเว้นที่มีความครอบคลุมกว่า และมีความเหมาะสมมากกว่ากฎหมายฉบับเก่า ซึ่งจะมีข้อแตกต่างอยู่บ้าง นายกฤษฎา กล่าวยืนยันว่าร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จะไม่เป็นภาระกับประชาชน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน ที่มีอยู่เดิมแล้ว แต่เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนความคืบหน้า การประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลังไปแล้ว กำลังพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจแก้ไขรายละเอียดกฎหมายให้มีความรัดกุม เรื่อง ผู้รับมอบมรดก ในชั้นการพิจารณาของ สนช.รายงานข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคิดจากฐานราคา จะมีความเหมาะสมมากว่าคิดจากขนาดของทีดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ แม้จะมีขนาดเท่ากันแต่ราคาก็ไม่เท่ากัน เช่น พื้นที่ชนบท กับตัวเมือง หรือพื้นที่ติดแนวรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งแนวทางที่ สศค.เสนอ เช่น อาจจะมีการยกเว้นภาษีให้ที่อยู่อาศัยราคา 1 ล้านบาทแรก หากซื้อบ้านในราคา 3 ล้านบาท ก็คิดภาษีจากส่วนที่เกินมาเท่านั้น ซึ่งจะต้องไปนิยามอีกครั้งว่า ผู้มีรายได้น้อย ควรมีที่อยู่อาศัยราคาเท่าใด

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เล็งผ่อนปรนเก็บภาษีที่ดินฯ ผู้ที่มีรายได้น้อย

Posts related