“ชัชชาติ” สั่งรฟท.พลิกโฉมสถานีรถไฟทั่วประเทศ นำร่องหัวลำโพงโฉมใหม่ ฟื้นบูทิคโฮเต็ล พร้อมขยายไป นครปฐม เชียงใหม่ ด้าน ผู้ว่า รฟท. ขอขึ้น ขีดเส้น ปตท. 31 ธ.ค.56 ไม่จ่ายก็ย้ายออก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยได้ประชุมกับศูนย์การสร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี ) ว่า ได้มีการศึกษาออกแบบโครงการพัฒนาการบริการขั้นพื้นฐานของสถานีหัวลำโพงในรูปโฉมใหม่ โดยจะเน้นการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกการให้บริการขั้นพื้นฐานให้ทันสมัยอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และสร้างผลตอบแทนรายได้ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งหลังจากนี้จะทยอยปรับปรุงสถานีรถไฟแห่งให้มีเอกลักษณ์และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับตัวอย่างการปรับสถานีรถไฟหัวลำโพง เช่น จะรื้อฟื้นโรงแรมภายในสถานีรถไฟหัวลำโพงเดิมซึ่งใช้เป็นอาคารสำนักงาน เพื่อปรับปรุงให้เป็นบูทิคโฮเต็ลในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่อื่น เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ ชานชาลา ป้ายบอกทาง เก้าอี้ จุดเชื่อมต่อรถสามล้อ แท็กซี่ ให้สะดวกเพิ่มแต่ขณะเดียวกันจะต้องคงวิถีชีวิตดั้งเดิมความเป็นไทยไว้ เช่นเดียวกับสถานีรถไฟนครปฐมและเชียงใหม่จะมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสถานีรถไฟด้วย “หลังจากนี้มอบหมายให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)นำข้อมูลจากผลการศึกษาของทีซีดีซีไปปรับปรุงรูปแบบของสถานีรถไฟต่างๆ โดยเริ่มจากสถานีหัวลำโพงเป็นต้นแบบและขยายไปยังสถานีแห่งอื่น ที่สำคัญแต่ละสถานีต้องคงเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละพื้นที่ คาดภายใน 6 เดือนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานและดึงดูดกลุ่มผู้โดยสารที่ใช้บริการอยู่เดิมผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการในอนาคตด้วย”
นายชัชชาติกล่าวว่า สถานีรถไฟแต่ละแห่งอาจต้องใช้เวลาในการปรับปรุงสักระยะหนึ่ง เพราะเป็นการปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้น แต่จะเน้นปรับปรุงสถานีใหญ่ๆ ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวด้วย แต่ละแห่งจะต้องสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เช่น สถานีหัวหิน อาจนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาปรับให้เข้ากับการใช้บริการของสถานีได้ และอาจจะต้องมีการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมให้ใกล้เคียงและสอดคล้องกับสถานีด้วย ส่วนปัญหาการเช่าที่ดินสำนักงานใหญ่ ปตท. ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ รฟท.เจ้าของพื้นที่นั้น จะให้เวลาผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเจรจาตกลงกันก่อน แต่ในระดับนโยบายวันที่ 18 ต.ค.นี้ ตนจะได้มีโอกาสในการหารือกับนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานในเรื่องนี้ด้วย โดยที่ผ่านมาถือว่านายประภัสร์ ผู้ว่า รฟท. ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ขอ รฟท. อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ปตท.ก็ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานเช่นกัน แต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะคุยกันได้ ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า จะให้เวลา ปตท.ตัดสินใจเรื่องการต่อสัญญาเช่าที่ดินเงื่อนไขใหม่ 30 ปี เงิน 1,792 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.56 หากไม่ยอมตกลงตามเงื่อนไข ขอให้ ปตท.ย้ายออกไปจากที่ดังกล่าว พร้อมกับปฏิเสธข้ออ้างของ ปตท.ที่ระบุว่าการทำสัญญาขอใช้ที่ดินในครั้งแรกตั้งแต่ปี 2526 ในนามของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นข้อตกลงการขายซื้อขายขาด เนื่องจากตามกฎหมายที่ดินของ รฟท.ไม่สามารถซื้อขายได้ “อัตราค่าเช่าต่อสัญญาอีก 30 ปี 1,792 ล้านบาทนั้น ทาง รฟท.ไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับเพราะเป็นราคาที่จ้างที่ปรึกษาเข้ามาประเมินแล้ว แต่ ปตท.จะขอจ่ายแค่ 800 ล้านบาท ซึ่งผมยอมรับไม่ได้ เพราะราคาที่คิดนั้นตกปีละ 59 ล้านบาท หรือเดือนละ 4.97 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าถูกมากแล้ว และปัจจุบัน ปตท.ก็เป็นบริษัทมหาชนอีกด้วย นอกจากนี้จะมีการทวงค่าเช่าที่ค้างชำระมา 6 เดือนอีกเดือนละ 6 ล้านบาทด้วย โดยหากรฟท.ได้เงินในส่วนนี้ จะนำมาช่วยปรับปรุงสถานีใหม่ที่จะเร่งทำทั่วประเทศ” นายประภัสร์ กล่าวต่อว่า กรณี ปตท.อ้างเหตุผลในสัญญาเดิมที่กำหนดว่าจะได้สิทธิในการต่อสัญญาอีก 30 ปี โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนนั้น ในความเป็นจริงสัญญาเดิม รฟท.ผูกพันกับการปิโตรเลียแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่หลังจากนั้น ได้แปรสภาพเป็น บริษัทจำกัด(มหาชน) ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายและตัวแทนอัยการสูงสุดเป็น กรรมการ รฟท.ได้ยืนยันตรงกันว่า ผลผูกพันทางนิติกรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะถือว่าเป็นนิติบุคคลใหม่ ดังนั้น รฟท.มีสิทธิเรียกเก็บค่าเช่าใช้ที่ดินได้ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเหนือพื้นดินทั้งหมดจะต้องตกเป็ฌนของ รฟท.หลังสัญญาสิ้นสุดด้วย

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เล็งพลิกโฉมสถานีรถไฟทั่วประเทศ

Posts related