ในช่วงที่ผ่านมานี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้อ่อนตัวลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน โดยได้รับผลจากความกังวลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกัน ราคาทองคำในตลาดโลก ก็อ่อนตัวลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือนจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้น ประเด็นดังกล่าวมีที่มาเป็นเช่นไร วันนี้ผมขออนุญาตสรุปให้ฟัง ดังนี้ครับ ขอเริ่มจากฝั่งยุโรป ที่ผลสำรวจภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI) ของประเทศในกลุ่มยูโรโซนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นำโดยเยอรมนี ที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ทั้งฝรั่งเศสและอิตาลี ล้วนบันทึกการหดตัวจากเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน เครื่องชี้ภาวะอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร (UK) ก็บ่งถึงการขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มยูโรโซน ทำให้ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเป็นร้อยละ 0.05 จากเดิม 0.15 และปรับเพิ่มดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายให้แก่ธนาคารกลางในการฝากสภาพคล่องไว้ เป็นร้อยละ 0.2 จากเดิมร้อยละ 0.1 รวมถึงประกาศมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง โดยการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง (Asset-Backed Securities: ABS) ที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการดังกล่าว มีเป้าหมายที่อัดฉีดเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ เพื่อที่ช่วยให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวและหยุดยั้งการดิ่งลงของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง (ABS) ยังคงมีความเข้มข้นน้อยกว่าการทำคิวอี เนื่องจากในการทำคิวอีนั้น ธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีปริมาณในตลาดมากกว่า ทำให้มีมูลค่าการอัดฉีดเงินเข้าระบบมากกว่า ส่วนในฝั่งเอเชียนั้น เครื่องชี้ภาวะอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม บ่งชี้ถึงการขยายตัวเพียงเล็กน้อย รวมถึงยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สุดในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้ แม้ว่าภาคบริการของจีน จะยังคงขยายตัวได้ดี แต่นักวิเคราะห์มองว่า ทางการจีนอาจจะต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถรักษาอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ร้อยละ 7.5 โดยประเด็นปฏิรูปที่เป็นที่กล่าวถึง ได้แก่ การปฏิรูปภาคการเงิน ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและการจัดตั้งสถาบัน คุ้มครองเงินฝาก, การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล และการปฏิรูปการดำเนินการของธุรกิจที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ปัจจุบันอาจจะขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัว ทั้งในฝั่งยุโรปและจีนดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันของโลก จนส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงอย่างที่ปรากฏ ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ยังคงออกมาแข็งแกร่ง จนทำให้นักลงทุนมองว่า หลังจากการจบการทำ คิวอี ของธนาคารกลางสหรัฐ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แล้ว ก็อาจจะเริ่มมีการพูดกันถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดกันไว้แต่เดิม ทิศทางดอกเบี้ยในสหรัฐ ที่น่าจะทยอยปรับขึ้นนั้น นับได้ว่าจะสวนทางกับทิศทางดอกเบี้ยของยุโรปและญี่ปุ่น ที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน นอกจากนี้ เนื่องจากเงินดอลลาร์ มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับราคาทองคำ แนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จึงส่งผลกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนทำไมเงินดอลลาร์ จึงมักจะเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับราคาทองคำนั้น คำอธิบายประการหนึ่งคือ หากมองเงินดอลลาร์ และทองคำเป็นทรัพย์สินสองประเภทที่นักลงทุนต้องตัดสินใจเลือกแล้ว ต่อมาหากสถานการณ์เศรษฐกิจทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเงินดอลลาร์ ในช่วงข้างหน้าจะมีทิศทางแข็งค่า นักลงทุนก็จะหันมาเพิ่มน้ำหนักในการถือครองเงินดอลลาร์ ซึ่งย่อมจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์อื่นที่เป็นคู่แข่งกับเงินดอลลาร์ ซึ่งในกรณีนี้คือทองคำ อ่อนตัวลง ขอปิดท้ายด้วยผลต่อเศรษฐกิจไทยครับ ผมมองว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐ จะดูแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น คงจะยังไม่กลับมาเป็นปกติอีกพักใหญ่ ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปีนี้ต่อเนื่องไปถึงในปีหน้า คงจะต้องหวังพึ่งการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุน ทั้งของภาครัฐและเอกชน ครับ.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันราคาน้ำมัน…เงินดอลลาร์ฯแข็ง กดดันราคาทองคำ – โลกการเงิน

Posts related