นายอัฌษไธค์  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยหลังประชุมกับตัวแทนแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปการปรับเงื่อนไขใบรับรองตรวจสุขภาพสำหรับผู้ขอใบขับขี่รถยนต์ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย  โดยมีนายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธาน เพื่อหาข้อสรุปเงื่อนไขได้ภายใน 30 วัน  จากนั้นไปจัดทำแนวปฏิบัติคาดว่าใช้เวลาอีก 1–2 เดือน   “เรื่องนี้ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ  เพราะมีรายละเอียดและต้องคำนึงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระต่อประชาชนด้วยหรือไม่ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ให้ตัวแทนภาคประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วย เพราะการตรวจสอบโรคกับการกำหนดว่ามีความสามารถขับรถได้หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์ รวมทั้งต้องหาทางทำให้ผู้ขับขี่ต้องมีส่วนรับผิดขอบต่อสังคมและมีจิตสำนึกด้วย” พล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า ได้เสนอกลุ่มโรคที่จะต้องควบคุมก่อนขอใบขับขี่ คือ ผู้ป่วยหัวใจ โรคเบาหวานขั้นรุนแรง และผู้ป่วยโรคลมชัก เนื่องจากผลการศึกษาในสหรัฐฯ และยุโรป พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด อันดับแรกมาจากเมาสุรา  รองลงมาเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคลมชัก ซึ่งข้อมูลนี้ใกล้เคียงกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆทั่วโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลมชักในไทยมีอยู่ 2–4% ของพลเมือง 65 ล้านคน  หรือมีผู้ป่วยโรคลมชักรวม  1.2–2.4 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่ามีหลายแสนคนที่มีใบอนุญาตขับขี่รถ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อผู้ใช้รถใช้ถนน “ภายใน 30 วันจะต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งผลวิจัยต่างๆ   แต่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้ยาก จึงต้องไปพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงและกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบก” พล.อ.ต.อิทธพรกล่าวว่า  ในระหว่างที่จะต้องรอขั้นตอนการประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้นั้นต้องใช้ระยะเวลา ยังได้เสนอให้มีการจัดทำโครงการเซฟตี ไดรฟ์เวอร์ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรถขนส่งสาธารณะจัดส่งพนักงานขับรถเข้าร่วมในการตรวจสุขภาพโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถเหล่านี้ และมีใบรับรองให้   หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะได้รักษาทันท่วงที  และจะเกิดผลดีต่อผู้ขับรถที่จะทำให้ผู้ประกอบการต้องดูแลใส่ใจสุขภาพของผู้ขับขี่   ทั้งนี้ใบรับรองแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นการตรวจสุขภาพว่าไม่มีปัญหาต่อการขับขี่ แต่ไม่ได้กำหนดโรคหลักที่มีผลกระทบต่อใบขับขี่  ดังนั้นในหลักปฏิบัติซึ่งเป็นหลักสากล จะต้องให้ผู้ขับขี่กรอกประวัติเพื่อรับรองตัวเองว่าเคยเป็นโรคอะไรอย่างไร หรือไม่ และหากให้ข้อมูลเป็นเท็จจะต้องมีบทลงโทษด้วย อีกส่วนหนึ่ง คือ การตรวจสอบโรคที่สำคัญจะต้องอยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์ที่จะกำหนดว่าแต่ละ โรคอาการขนาดไหนที่ต้องห้ามขับรถ และอาการใดที่ยังขับรถได้   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่รถยนต์เพียง 5 โรค คือ ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดสุรา ยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอและไม่เกี่ยวข้องกับการขับรถและไม่สามารถป้องกันภัยในการขับรถ แต่ข้อบังคับใหม่ที่แพทยสภาเสนอจะเป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถโดยตรง ประกอบด้วย โรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก  โรคหัวใจ สำหรับขั้นตอนการยื่นขออนุญาตใบขับขี่ในปัจจุบัน กำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปี บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา ใบรับรองแพทย์ตัวจริง ไม่เกิน 1 เดือนที่รับรองว่าไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ ส่วนผู้ที่มีร่างกายพิการ เช่น แขนขาดข้างเดียว ขาขาดข้างเดียว ตาบอดข้างเดียว ลำตัวพิการ หูหนวก. จะต้องขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ขนส่งฯ ก่อน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เสนอคุม3โรคต้องห้ามเพิ่มก่อนทำใบขับขี่

Posts related