ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะถดถอยผลพวงจากวิกฤติเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศเหล่านั้นต่างเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการคนไทยได้ส่งสินค้าไปจำหน่าย มีจำนวนมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป เมื่อสถานการณ์ส่งออกฝืด ไม่ไหลลื่น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวรับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร ทีมข่าวเศรษฐกิจ “เดลินิวส์” มีโอกาสสัมภาษณ์ เสี่ยใหญ่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ นักธุรกิจที่คร่ำหวอดในวงการ ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายรูปแบบ มองเห็นโลกมานาน มองว่า เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังคงชะลอตัว รวมทั้งปีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อาจจะไม่ถึง 4% ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมากจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และในประเทศผู้บริโภคได้ชะลอการจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อชะลอตัวลงไป เหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ส่วนที่มองว่าจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นจากอาการเซื่องซึมนี้ไปได้ คงหนีไม่พ้นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล หากสามารถเร่งดำเนินการได้ตามแผน ก็จะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมีเงินหมุนเวียน เชื่อว่าจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนได้อีกระดับหนึ่ง หรือหากจะมองในอีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากโครงการลงทุนใหญ่ ๆ ที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว หากสถานการณ์ค่าเงินบาทเอื้อ อ่อนค่าลง ก็จะส่งผลดีในอีกทางหนึ่งเช่นกัน “แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอยู่ที่ระดับ 300 บาทต่อวัน แต่กำลังซื้อก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะมีเหตุจูงใจอื่น ให้ผู้บริโภคต้องใช้จ่ายมากกว่าปกติ เช่น โครงการรถคันแรก รวมไปถึงพฤติกรรมการของผู้บริโภคที่เน้นอุปโภค-บริโภคในสิ่งที่มีความจำเป็นน้อย เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ปัจจุบันนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปเสียแล้ว ด้วยผลที่เกิดจากการดึงกำลังซื้อล่วงหน้ามาใช้ก่อน คงส่งผลให้การใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง ณ ปัจจุบันนี้คาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า” นอกจากนี้ได้มองถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่น่าจับตามอง เมื่อตลาดใหญ่เปิด การทำธุรกิจก็จะขยายใหญ่ขึ้นไปอีก เดิมที่ทำการค้าขายในประเทศไทยประชากร 60 ล้านคน ก็จะเพิ่มเป็น 600 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อตลาดกว้างขึ้นโอกาสในการทำธุรกิจย่อมมีมากขึ้นเช่นกัน มั่นใจว่าการเปิดเออีซีนั้นมีแต่ผลดี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จากการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจไทยในการส่งออกสินค้าไปยังนานาประเทศ แต่ทั้งนี้การแข่งขันในตลาดก็จะสูงขึ้น ซึ่งถ้าธุรกิจไหนไม่แน่จริงคงอยู่ได้ยาก ดังนั้นการลงทุนจะทำให้ถูกทิศถูกทาง เนื่องจากไทย มีข้อได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน รวมถึงทำเลที่ตั้ง ควรพิจารณาและเลือกใช้โอกาสที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด สำหรับเครือสหพัฒน์นั้น เราได้เตรียมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้ ซึ่งหลักการทำธุรกิจต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอด ทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่ขยายกิจการมากเกินไป การทำธุรกิจที่ดีจะต้องไม่โลภ แต่ต้องรู้จักทิศทางในการลงทุน “แผนที่เราจะเปิดจะเดินต่อจากนี้ไป คือ จะให้ความสำคัญ กับธุรกิจบริการมากขึ้น การนำงานบริการเข้ามาเสริมธุรกิจเดิมนั้น เป็นการช่วยให้บริษัทรู้จักตลาดและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และนำข้อมูลเหล่านี้มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทต่อไป ทางด้านภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น จะไม่ขยายเพิ่ม จะทำด้วยความพอดี เพราะต่อไป เมื่อเปิดตลาดเออีซี เราจะเลือกทำการค้าด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพของคู่ค้า มาจำหน่าย และพร้อมกันนั้นก็จะนำสินค้าของเครือฯ ออกไปทำตลาดในประเทศนั้น ๆ” เศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้ถดถอย แต่รอจังหวะที่จะก้าวเดินต่อไป โดยต้องขึ้นอยู่กับรอจังหวะเวลา โอกาส และ รัฐบาลมืออาชีพ ที่จะเป็นผู้นำพาภาคเอกชนให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้…เท่านั้น. พัชชาพร อยู่เลี้ยงพันธ์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เสี่ยใหญ่”บุณยสิทธิ์”ชี้ศก.ไม่ถดถอยรอรัฐบาล”มืออาชีพ”นำพาประเทศ

Posts related