ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดนะครับ ยุคของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เราเสมือนกับว่าถือคอมพิวเตอร์ไปใช้ติดตัวได้ทุกที่ทุกเวลานี้ แล้วคอมพิวเตอร์มือถือเหล่านี้ก็ถือว่าสะดวกสบาย ทั้งเบา ราคาถูก แถมประสิทธิภาพก็ดีกว่าคอมพิวเตอร์หนัก ๆ สมัยก่อนมาก แต่เพียงเท่านี้ก็ยังไม่พอครับ นักวิจัยและพัฒนาทั่วโลกยังคงค้นหาทางไปต่อให้กับความสะดวกสบายของพวกเราอีก โดยคราวนี้กะให้พวกเราไม่ต้องใช้มือทั้งสองข้างมาถืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่ใช้วิธีสวมอุปกรณ์นั้นให้อยู่บนร่างกายไปเลย ใช่ครับ ผมกำลังจะพูดถึงเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ หรือ Wearable Technology นั่นเอง เทคโนโลยีสวมใส่ได้นี้ ปัจจุบันมีหลาย ๆ บริษัทและห้องทดลองที่กำลังค้นคว้าอยู่ บางส่วนก็มีผลิตสินค้าออกให้พวกเราได้ใช้กันบ้างแล้ว ตัวดัง ๆ ที่คุณผู้อ่านอาจผ่านหูผ่านตามาบ้างก็เช่น Smart Watch หรือ Google Glass เป็นต้น แต่เทคโนโลยีสวมใส่ได้นี้ยังเป็นอะไรได้มากกว่าแว่นและนาฬิกาข้อมือนะครับ บางอย่างก็ฟังดูแปลกเสียจนเราไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นไปได้จริง ๆ หรือเนี่ย ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าที่สามารถชาร์จไฟให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์    ได้ขณะที่เราสวมใส่อยู่ หรือสายรัดข้อมือที่สามารถฟอกอากาศขจัดมลพิษในอากาศรอบ ๆ ตัวผู้สวมใส่ได้ วันนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมมารู้จักกับเทคโนโลยีสวมใส่ได้นี้ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับการพัฒนาจากนักวิจัยที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งผมขอตั้งชื่อมันว่า “เสื้อกู้อัคคีภัยแห่งอนาคต” สุภาษิตโบราณว่าไว้ว่า โจรขึ้นสิบครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว อัคคีภัยเป็นภัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากและอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเพราะความผิดพลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือจากความประมาทของมนุษย์เองก็ตาม บุคคลที่ต้องรับบทหนักในการจัดการอัคคีภัยก็คงหนีไม่พ้นหน่วยกู้อัคคีภัยที่ต้องผจญทั้งกับควันและเปลวไฟ แถมยังต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะทุก ๆ นาทีที่เสียไปอาจหมายถึงชีวิตของคนคนหนึ่งได้ ในเวลาเร่งรีบชุลมุนอย่างนี้ การจะให้เหล่านักสู้เพลิงต้องสละมือทั้งสองมาใช้สมาร์ทโฟนหรือพกแท็บเล็ตวิ่งไปมานั้นย่อมไม่เป็นการสะดวกแน่ ดังนั้นจึงมีนักวิจัยคิดค้นเสื้อกู้อัคคีภัยแห่งอนาคตเพื่อทดแทนคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้มือในการถือให้กับเหล่านักผจญเพลิงในช่วงเวลาคับขันเช่นนี้ เสื้อกู้อัคคีภัยตัวนี้มีการฝังโทรศัพท์ขนาดเล็กซึ่งเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางบลูทูธไว้ ทำให้นักดับเพลิงหรือหน่วยกู้ภัยสามารถพูดรายงานความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านทางเสื้อที่เขาสวมใส่อยู่ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข่าวสารและขอความร่วมมือจากทีมกู้ภัยทีมอื่น ๆ ด้วย โดยกลไกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดถูกซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิดในผ้าบุชั้นในของตัวเสื้อ มีตั้งแต่แผงควบคุมขนาดจิ๋ว หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ และช่องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ แทบไม่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเลยล่ะครับ นอกจากฝังโทรศัพท์แล้ว ที่แขนของเสื้อก็มีติดตั้งหน้าจอดิจิตอลเล็ก ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นได้ทั้งเนวิเกเตอร์นำทางโดยใช้ระบบจีพีเอส และยังรวมไปถึงการมีระบบตรวจเช็กสภาพร่างกายของผู้สวมใส่ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติหรือผู้สวมอยู่ในภาวะที่เป็นอันตรายก็จะติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือไปยังทีมกู้ภัยทีมอื่นทันที ไม่เพียงเท่านี้จอดิจิตอลนี้ยังมีไว้สำหรับรับข้อความได้ด้วย โดยเมื่อมีข้อความใหม่เข้ามาก็จะมีกลไกที่ทำให้เกิดการสั่นเตือนที่คอปกเสื้อทำให้นักดับเพลิงที่สวมใส่เสื้ออยู่รู้ว่ามีข้อความเข้ามาได้ ไม่เพียงแค่เสื้อกู้อัคคีภัยอัจฉริยะจากประเทศนอร์เวย์ตัวนี้เท่านั้นนะครับที่ถูกคิดค้นขึ้นมาช่วยเหลือนักผจญเพลิง ยังมีนักวิจัยจากประเทศอังกฤษอีกท่าน ชื่อว่า ศ.ดร.โทนี่ เพรสค็อตต์ (Tony Prescott) ที่คิดค้นพัฒนาหมวกกู้ภัยอัจฉริยะออกมาด้วยเช่นกันครับ โดยเขาเรียกหมวกกู้ภัยนี้ว่า “Tactile Helmet” กลไกการทำงานของหมวกกู้ภัยนี้มีลักษณะเหมือนกับหนวดของสัตว์ที่จะส่งคลื่นอัลตราซาวด์ออกไปกระทบสิ่งกีดขวางและสะท้อนกลับมา ค่าสะท้อนที่วัดได้จะถูกแปลงให้เป็นการสั่นสะเทือนเพื่อเตือนให้ผู้สวมใส่รู้ล่วงหน้าว่ามีวัตถุอะไรกีดขวางอยู่ด้านหน้าท่ามกลางเปลวไฟและหมอกควันที่บดบังทัศนวิสัยอยู่บ้าง โดยการพัฒนาหมวกกู้ภัยตัวนี้ใช้สมมุติฐานว่าการกระตุ้นที่ตัวหมวกจะทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกตัวเร็วขึ้นกว่าการกระตุ้นที่มือหรือร่างกายส่วนอื่น ๆ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับเหล่านักผจญเพลิงได้อีกทางหนึ่ง นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งนะครับที่แสดงให้เห็นถึงการที่คนจากสองประเทศที่อยู่กันคนละที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลยมาช่วยกันสรรค์สร้างเทคโนโลยีที่ถมหลุมของปัญหาหนึ่งให้ค่อย ๆ เต็มและอาจหายไปได้ในสักวัน แล้วพวกเราคนไทยที่มาจากสังคมเดียวกันล่ะครับ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความแตกแยก ไม่ใช่ว่าให้ลืมมันไปและซุกปัญหาไว้ใต้พรมนะครับ แต่อยากให้มองปัญหาด้วยสติ ด้วยเหตุและผล เคารพความแตกต่างเหมือนที่เรายอมรับความแตกต่างของเพื่อนพ้องหรือพี่น้องเราได้ แล้วหันหน้ามาร่วมด้วยช่วยกันเอาดินแห่งปัญญามาถมหลุมของปัญหาต่าง ๆ เพื่อเติมสังคมไทยให้กลับมาเต็มอีกครั้งหนึ่ง. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เสื้อกู้อัคคีภัยแห่งอนาคต – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related