“ดับฝัน” กันไปทีเดียว… กับสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 56 หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ ออกมาฟันธงชัดเจนว่า “ตายสนิท” เป็นได้แค่ “เซตซีโร่” คือไม่มีอัตราเติบโต เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ เห็นได้จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกจาก 3.3% เหลือเพียง 2.9% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปที่เชื่อกันว่าตลอดทั้งปี 56 จะถดถอยหรือติดลบถึง 0.7% ทีเดียว ขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นอาจเติบโตเพิ่มขึ้นบ้างโดยมาอยู่ที่ 1.6% ส่วนญี่ปุ่นอาจเติบโตได้ 1.8% และจีนเติบโตได้ 7.6% ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจ โลกชะลอตัวเท่านั้น ที่พ่นพิษใส่การส่งออกของไทย แต่ยังมีปัจจัยเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากจนแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 56 ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าไทยจำนวนมากไม่กล้าส่งออก เพราะกลัวขาดทุน ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งข้าว พระเอกสำคัญของไทย ในเมื่อการส่งออกในปี 56 ไม่เติบโต ขณะที่ภาครัฐเองคงไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้ขนสารพัดมาตรการกว่าครึ่งร้อยมาแล้วก็ตาม แต่ก็…ไร้ผล ไม่สามารถผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ที่ 7% เป้าส่งออกปี 57 สวยหรู ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเป็นเซตซีโร่ไปแล้ว คงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์หากจะมานั่งคลำทางผลักดันให้ส่งออกเติบโต ดังนั้นหลายฝ่ายจึงฝากความหวังไว้กับปี 57 เพราะอย่างน้อยเมื่อในปี 56 การส่งออกไม่ขยายตัว นั่น…หมายความว่าฐานการคำนวณจะต่ำย่อมส่งผลให้อัตราเติบโตในปี 57 ย่อมสูงขึ้นโดยปริยาย นอกจากนี้ทั่วโลกยังมั่นใจว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 57 จะดีขึ้นกว่าปีนี้แน่นอน คืออาจเติบโตได้ที่ 3.5% ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยลืมตาอ้าปากได้ โดย สศช.ได้ประเมินว่าอาจเติบโตได้ถึง 7% ทีเดียว ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับดูแลให้การส่งออกเดินหน้าให้ได้ ก็ประมาณการไว้แบบเรียบ ๆ ไม่หวือหวา โดยเติบโตได้ที่ 5% เอกชนพร้อมจัดเต็ม ส่วนมุมมองของภาคเอกชนก็ไม่แตกต่าง และเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่การส่งออกจะเติบโตได้ที่ 7% เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก 3 ตลาดของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีนี้ โดยประเทศสหรัฐอเมริกาแม้ว่ายังใช้นโยบายอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการคิวอี แต่เชื่อว่าเป็นการดำเนินการที่ทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคงและจะฟื้นตัวได้ภายในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจในยุโรปนั้น ภาคเอกชนมองว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วก่อนฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนญี่ปุ่นจากนโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบ ได้ช่วยทำให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัว ยานยนต์แรงต่อเนื่อง ทั้งนี้เอกชนมองว่าในปีหน้าสินค้าที่โดดเด่นที่ยังเป็นหัวหอกในการฟื้นตัวการส่งออก คงหนีไม่พ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก และสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจส่งออกขยายตัว 20% ชิ้นส่วนยานยนต์เติบโต 10% อิเล็กทรอนิกส์จากที่ติดลบในปีนี้เป็นเติบโต 0% เครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโต 5%, วัสดุก่อสร้างจากติดลบ 4.9% เป็นเติบโต 10% เช่นเดียวกับข้าว…พระเอกสำคัญของไทยที่พลิกจากติดลบ 0.7% ในปีนี้เป็นเติบโต 5% ยางพาราจากติดลบ 5% ในปีนี้เป็น เติบโตสูงถึง 5% หรือแม้แต่น้ำตาลทรายจากติดลบ 20% ในปีนี้เป็นเติบโต 5% และกลุ่มอาหารจากติดลบ 0.2% ในปีนี้เป็นเติบโต 7% เห็นได้ว่าหลาย ๆ สินค้าที่สำคัญของไทย ที่มีมูลค่าส่งออกติดลบในปีนี้อาจกลับมาเป็นบวกแบบก้าวกระโดดในปีหน้าจนเป็นที่ชื่นอกชื่นใจ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแค่เป้าหมาย… เป็นเพียงความฝัน เริ่มตั้งแต่กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อย่างเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน, เม็ดพลาสติก, วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรกล เป็นต้น คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกรวมกันไม่ต่ำกว่า 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น กรณีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแผนเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ เน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกเกือบ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเน้นการส่งเสริมการขยายส่งออกไปยังตลาดศักยภาพใหม่ ๆ และตลาดที่ทำเอฟทีเอกับไทย อย่าง กลุ่มลาตินอเมริกา แอฟริกาใต้ และตะวัน ออกกลาง การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่จะเป็นศูนย์การผลิตและการค้าของอาเซียน การสร้างพันธมิตร ร่วมลงทุนเอเชียใต้และอาเซียน เพื่อเข้าถึงตลาดมากขึ้น อาหาร-สินค้าเกษตรฟื้น ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหารไทยคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกรวมกันเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 5.9% โดยเน้นแผนการส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารคุณภาพ มีความปลอดภัย พร้อมทั้งผลักดันตลาดใหม่สินค้าใหม่ที่สร้างมูลค่า โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ ผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก การผลักดันให้เกิดการเจรจาธุรกิจและส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มสินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม ก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาจำนวนมากเหมือนกันโดยเฉพาะการลุยตลาดใหม่ การสร้างเครือข่าย และการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่เชื่อว่าจะเป็นตัวโดดเด่นในการส่งออกไทยปี 57 เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการจะสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย พร้อมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีของโลก ผลักดันให้เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินสำคัญของโลก และการหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ในการส่งออก เช่น ขายผ่านทีวีชอปปิง กลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง จะมุ่งขยายตลาดส่งออกเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ สถาบัน ขายผ่านออนไลน์ และผลักดันการย้ายฐานการผลิตไปอาเซียน กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ จะผลักดันการส่งออกตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ สถาบัน ร้านอาหาร โรงแรม สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว ขายผ่านออนไลน์ รวมทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยการผลักดันให้ใช้เออีซี เป็นฐานการผลิต และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน กลุ่มสุขภาพและความงาม จะเน้นการสื่อสารประชา สัมพันธ์ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในสินค้าไทยที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดกระแสนิยมบริโภค เน้นตลาดอาเซียน ผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าคุณภาพและความงามที่เน้นธรรมชาติ สมุนไพรที่ผสมผสานภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานสากล ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพในเอเชีย รอพิสูจน์ฝีมือพาณิชย์ ขณะที่ภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ ได้งัดมาตรการออกมาเต็มที่เช่นกันไม่แพ้ผู้ส่งออกเพราะหากยอดส่งออกหดตัวอีกก็ถือว่ากระทรวงต้องเสียหน้าเหมือนกัน โดยคาดว่าในปี 57 จะมีการโรดโชว์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการทำตลาดสินค้าทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ประมาณ 400-500 ครั้งทีเดียว รวมทั้งส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศหรือจัดงานใหญ่ในประเทศไทยเพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เครื่องประดับและอัญมณี ธุรกิจบันเทิง เป็นต้น และการเร่งการผลักดันการเจรจาการทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้นเพราะเอฟทีเอจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งโดยการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ดูแล้วแม้ว่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ ในปี 57 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกสดใสและการส่งออกไทยดูดีตามไปด้วย แต่ทั้งหมดทั้งปวงยังมีอุปสรรคที่หลายฝ่ายกังวลและอาจทำให้ส่งออกโตไม่ถึง 5% หรือ 7% อย่างที่ตั้งไว้เหมือนกับที่ตั้งเป้าหมายในปีนี้ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลัก… ที่เศรษฐกิจอาจไม่ฟื้นอย่างที่คิดโดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่อาจทำให้การส่งออกไทยหยุดนิ่งหรืออาจหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันก็ได้ เพราะนโยบายการกระตุ้นการคลังของญี่ปุ่นที่เริ่มลดลง และภาษีการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดจีนนั้นพบว่า เศรษฐกิจมีสิทธิชะลอตัวเช่นกัน ประกอบกับหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับตลาดจีน จึงอาจทำให้การส่งออกไทยไปตลาดจีนไม่สดใสอย่างที่คิดเช่นเดียวกับเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐจะยกเลิกมาตรการคิวอีเมื่อใดกันแน่ หวั่นการเมืองฉุดเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกไทย…เป็นเพียงแค่เครื่องยนต์ หนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าให้เติบโตตามเป้าหมายที่ สศช.คาดหมายไว้ที่ 4-5% แต่ยังมีเครื่องยนต์อื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่เชื่อแน่ว่าในปี 57 นี้จะทะลุเป้าหมายที่ 2 ล้านล้านบาท หรือเรื่องของการค้าชายแดนที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจนถึงหลักไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว รวมไปถึงการบริโภค และการลงทุน ในประเทศ ที่เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม แม้หลายฝ่ายมองว่าหลายเครื่องยนต์จะเดินหน้าได้เป็นอย่างดี แต่หากเครื่องยนต์ใดสะดุดเข้าให้อีก คงได้เห็นบรรดาหน่วยงานออกมาปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจกันอีก โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง…ที่ยังไม่มีจุดจบที่ชัดเจนว่าจะรุนแรงมากน้อยอย่างไร หากจบแบบไม่แฮปปี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 57 ไม่น้อยกว่า 0.5% และที่สำคัญหาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาทสะดุดก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอีก 0.5% เช่นกัน หาก 2 ปัจจัยเสี่ยงในประเทศจบไม่สวย…เชื่อได้แน่ว่าความฝันที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้คงหลุดลอยไป และสุดท้ายแล้วจะยิ่งนำมาสู่การบั่นทอนความยั่งยืนของประเทศต่อไป. มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชน-พาณิชย์จัดทัพลุยส่งออก หวังเศรษฐกิจโลกดันเติบโต7%

Posts related