แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้การเดินทางท่องเที่ยวของทั้งไทยและเทศจะมีไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาคือมีไม่น้อยกว่า 4.4 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 47,000 ล้านบาทแต่ความฝันที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?คงต้องรอผลสรุปที่ชัดเจนต่อไป  ที่สำคัญตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จะเป็นอีกหนึ่งดัชนีเพื่อชี้วัดความร้ายแรงของปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้ออยู่ในเวลานี้ว่ายังคงติดอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใดรวมไปถึงอนาคตของการท่องเที่ยวไทยว่าจากนี้ไปจะยังคงเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวต่อไปได้เหมือนเดิมหรือหมดเสน่ห์!ไปจนหมดแล้ว   นอกจากนี้หลังจากหมดเทศกาลสงกรานต์ไปจนถึงเดือนต.ค.ในแต่ละปีจะเป็นช่วงของเวลานอกฤดูท่องเที่ยวหรือ“โลว์ซีซั่น”เนื่องจากก้าวเข้าสู่ฤดูฝนที่นักท่องเที่ยวไม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวนั่นยิ่งหมายความว่า…ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวอาจหดหายไปอีกก่อนที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี  เอเชียเมินเที่ยวไทย  ต้องยอมรับว่าจากปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุดไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นมาเมื่อใดได้กลายเป็นปัญหาใหญ่!กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ!ของภาคท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังต้องพึ่งพาภาพลักษณ์ที่สวยงามของประเทศอยู่ ซึ่ง “ศรีสุดา วณภิญโญศักดิ์” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่กำกับดูแลตลาดนักท่องเที่ยวจากเอเชีย บอกว่า ปกติแล้วในช่วงโลว์ซีซั่นตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ทดแทนได้และนิยมเดินทางท่องเที่ยวในทุกช่วงฤดูกาลคือกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเอเชีย แต่ในปีนี้กลับกลายเป็นว่านักท่องเที่ยวจากเอเชีย…เป็นตลาดกลุ่มที่หายไปมากที่สุดเพราะมีสาเหตุจากเหตุบ้านการเมืองและการประกาศ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยเหตุนี้ได้ทำให้ ททท.ไม่สามารถทำตลาดหรือดึงนักท่องเที่ยวเอเชียได้มากนักไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนจากญี่ปุ่น หรือแม้จากไต้หวัน เพราะยังไม่ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมโดยทั้งหมดต้องรอให้เหตุการณ์ทางการเมืองสงบนิ่งอย่างจริงจังเสียก่อน เมื่อถึงเวลานั้นการทำตลาดจึงเป็นประโยชน์มากที่สุด เช่นเดียวกับ “ปิยะมาน เตชะไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่บอกว่า เวลานี้สทท.ได้กำหนดกลยุทธ์กำหนดแนวทางสำหรับการทำตลาดกับททท.ไว้แล้วโดยเฉพาะการดึงคู่ค้าหลักจากประเทศฝั่งยุโรปที่เตรียมทำโปรแกรมพิเศษในช่วงหน้าร้อนของไทยและช่วงโลว์ซีซั่นอย่าง ต่อเนื่อง แต่ทั้งหลายทั้งปวง ! แนวทางที่ออกมาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ดังนั้นทั้งเอกชนและภาครัฐจึงต้องออกแรงวิ่งสู้ฟัดกระตุ้นการเติบโตของรายได้และจำนวน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลและททท.กำหนดไว้…   ความคาดหมายที่ว่า…ตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศต้องเดินทางภายในปี 57 นี้ให้ได้ 136.8 ล้านคน/ครั้งต้องสร้างรายได้ 700,000 ล้านบาทขณะที่นักท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศต้องอยู่ที่ 28.01 ล้านคนและทำรายได้ให้ได้ 1,326,500 ล้านบาท    แต่การจะไปถึงเป้าหมายจำเป็นต้องอัดทั้งโปรโมชั่นพร้อมไปกับการสร้างแคมเปญที่เร้าใจ เพื่อให้เป้าหมายไปถึงฝั่งฝัน!ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของนักท่องเที่ยวหรือรายได้จากการท่องเที่ยว  รุกตลาดหน้าโลว์ซีซั่น  ขณะที่เจ้าภาพใหญ่ในการทำตลาดและดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่าง ททท.ได้กำหนดกลยุทธ์พร้อมวางแผนดำเนินการที่เน้นหนักไปที่การร่วมมือกับสารพัดพันธมิตรทั้งการออกแคมเปญร่วมกันเช่น กรณีของภาคเหนือได้เน้นไปที่ตลาดของการประชุมสัมมนาเพื่อดึงดูดให้หน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศให้มาจัดงานด้านการประชุมสัมมนาโดยเฉพาะการท่องเที่ยวข้ามภาคที่มองเห็นโอกาสดีและกำลังมาแรงในขณะนี้  โดย “สุจิตรา จงชาณสิทโธ” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ ททท. บอกว่า ในช่วงโลว์ซีซั่นการจับมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางภาคเหนือและออกแคมเปญร่วมกันถือเป็นโปรโมชั่นที่น่าสนใจอย่างยิ่งและในปีนี้ที่น่าสนใจ คือ “แคมเปญ 3ซู1สวน” ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงโลว์ซีซั่นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาและพบว่าประสบความสำเร็จมากเพราะผู้ประกอบการจะได้ราคาตั๋วของสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีสวนสัตว์เชียงใหม่ และซูอควาเรี่ยม ในแบบเหมารวมที่ถูกกว่าซื้อแบบแยกขณะเดียวกันยังได้ท่องเที่ยวอุทยานหลวงราชพฤกษ์ฯ อีกหนึ่งแคมเปญ…ที่กระตุ้นตลาดได้ดีในช่วงโลว์ซีซั่นคือ  “กีฬากอล์ฟ” ทั้งในกลุ่มตลาดภาคตะวันออกและภาคเหนือที่มีจำนวนของสนามกอล์ฟเป็นจำนวนมาก โดย ททท.จะเน้นโปรโมตไปที่คุณภาพของสนามกอล์ฟควบคู่ไปกับโรงแรมที่ได้มาตรฐานทั้งด้านราคาและการบริการที่ดีรวมถึงพ่วงแหล่งชอปปิงไปด้วยถือว่าช่วยกระตุ้นตลาดทดแทนในช่วงไฮซีซั่นได้ เพราะนักท่องเที่ยวที่นิยมมาตีกอล์ฟโดยเฉพาะจากจีนและรัสเซียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว   สุดท้าย! เพื่อให้การท่องเที่ยวเดินหน้าได้ทั้งปีและไม่ทำให้ตลาดชะงักททท.จึงเปิดแคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย 12 เดือน” เพื่อทำให้คนไทยได้ทราบข่าวและรับรู้ว่าประเทศไทยสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีภายใต้ร่มคันใหญ่ของตลาดท่องเที่ยวในประเทศจากโครงการ “หลงรักประเทศไทย”  สายการบินอัดราคาพิเศษ  ในแง่ของสายการบิน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ใช้เป็นตัวดึงนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่ในภาคอีสาน ที่่ททท.ภูมิภาคอีสานจับมือกับแอร์เอเชียเปิดโครงการ “ม่วนแซ่บ หนุกจังฮู้บินเที่ยวทั่วไทยไปกับแอร์เอเชีย” ภายใต้ธีม “อีสานแซ่บเวอร์” กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาและในช่วงธรรมดาในฤดูซัมเมอร์นี้ ขณะที่ภาคใต้ ททท.ได้ร่วมกับไทยแอร์เอเชียเช่นกัน ด้วยการจัดแคมเปญ “ม่วนแซ่บ หนุกจังฮู้บินเที่ยวทั่วไทยไปกับแอร์เอเชีย” ลดราคาตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักราคาพิเศษซึ่งคาดว่าช่วยกระตุ้นตลาดในประเทศให้เดินทางมายังภาคใต้ผ่านบริการไทยแอร์เอเชียเติบโตขึ้น 7-8%  ส่วนอีกหนึ่งสายการบินโลว์คอสต์อย่าง นกแอร์ ททท.ไม่ปล่อยให้ผ่านมือเช่นกันโดยเตรียมจัดแคมเปญลดราคาตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักภายใต้แคมเปญ “เที่ยวใต้…เที่ยวง่าย” ด้วยเช่นกัน และจากนี้ไปจนถึงวันที่ 25 ต.ค.ยังได้จัดโปรโมชั่นสุดร้อนแรงเริ่มต้นเส้นทางบินในราคา 790 บาท ที่ถือว่าเป็นโปรโมชั่นที่ร้อนแรงและยาวนานต้อนรับโลว์ซีซั่นที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเภท ขณะที่บางกอกแอร์เวย์สบูทีคแอร์ไลน์ส ของไทยได้อัดโปรโมชั่นเด็ดร่วมกับบัตรเคทีซีในบริการ เวิลด์ทราเวล โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามันในแบบแพ็กเกจวันเดย์ทริปรวมกับได้พักผ่อนที่โรงแรมชั้นนำในราคาเริ่มต้นเพียง 9,999 บาท อีกทั้งยังได้การผ่อนชำระ 0% สูงสุดถึง 10 เดือน ไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้ รวมไปถึงแคมเปญ “เที่ยวไทยไปไหนก็สนุก” ใน  14 เส้นทาง เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เริ่มต้นที่ 1,290 บาทต่อเที่ยว, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต 1,490 บาทต่อเที่ยว ด้านสายการบินโลว์คอสต์น้องใหม่ล่าสุดอย่าง “ไทยไลอ้อนส์แอร์” ที่มองเห็นศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไทยและเห็นโอกาสในการทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวได้เริ่มเปิดจองเส้นทางหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี ที่เริ่มบินตั้งแต่ 24 มี.ค. เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นเพียง 700 บาท, หาดใหญ่-หัวหิน เริ่มต้น 1,000 บาท, หาดใหญ่- สุบังจายา (มาเลเซีย) 1,000 บาท, หาดใหญ่-เมดาน (อินโดนีเซีย) 1,000 บาท และหัวหิน-เมดาน 2,000 บาท ซึ่งการเปิดเส้นทางใหม่ของไลอ้อนส์แอร์นี้จะช่วยดึงนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากอินโดนีเซียที่กำลังเป็นตลาดใหม่มาแรงให้เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นเพิ่มได้ด้วย สำหรับยักษ์ใหญ่ของสายการบินประจำชาติไทย “การบินไทย” ได้ออกโปรโมชั่น “โดเมสติกฮอตเซลส์” ด้วยการชวนลูกค้าวางแผนการเดินทางล่วงหน้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น กระบี่ และภูเก็ต โดยเปิดให้จองตั๋วในช่วง 10 วันแรกของเดือน มี.ค. และเริ่มเดินทางได้ตั้งแต่ 15 พ.ค.-15 มิ.ย. เพื่อกระตุกยอดขายในช่วงโลว์ซีซั่น ปรับแพ็กเกจสร้างความต่าง  อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น ของการท่องเที่ยว ไม่ใช่ว่าบริษัททัวร์ทั้งทัวร์ไทยเที่ยวไทย ต่างชาติเที่ยวไทยและไทยเที่ยวนอกต้องหยุดการทำตลาดไปโดยฉับพลันแต่ผู้ประกอบการเองต่างฉกฉวยโอกาสนี้ทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น “บริษัทหนุ่มสาวทัวร์” ที่เจาะกลุ่มคนไทยไปเที่ยวนอกหรือเอาต์บาวด์ ที่เห็นว่านักท่องเที่ยวไทยนิยมซื้อทัวร์ที่มีจำนวนวันที่น้อยลง อีกทั้งยังไม่ต้องการซื้อทัวร์คุณภาพระดับ 5 ดาวเหมือนเดิมจึงต้องปรับตัวต้อนรับโลว์ซีซั่นทั้งการลดราคาทัวร์ลง 5,000 บาท และลดช่วงเวลาเดินทางลงด้วยแทนแต่จะมีทัวร์เสริมเพิ่มให้ลูกค้าโดยเป็นทัวร์ที่ฉีกรูปแบบเดิมออกไป เช่น ทัวร์บ้านฮาจิมะ ซึ่งเป็นบ้านผีสิงโปรเจคท์ที่อยู่บนเกาะคิวชู เป็นต้น เหมาห้องพักราคาเดียว  ด้านที่พักโรงแรม เคทีซีเครดิตของธนาคารกรุงไทยก็ไม่น้อยหน้าอัดโปรโมชั่นลดราคาห้องพักของโรงแรมชื่อดังกว่า 30 แห่งทั่วไทยให้กับลูกค้าบัตรเคทีซี เวิลด์ ในชื่อ “ห้องพักราคาเดียวเที่ยวทั่วไทย” เพียง 2,557 บาท หมดเขต 30 เม.ย.นี้ ซึ่งมีให้เลือกทั้ง ฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่,วาลาตาเขาใหญ่รีสอร์ท, เดอะเลเจนด้าสุโขทัย, เบลล์วิลล่า รีสอร์ท เขาใหญ่, เมอร์เคียวเกาะช้าง ไฮอะเวย์, ริเวอร์แคว รีโซเทล กาญจนบุรี และบลูโอเชี่ยน บีช รีสอร์ท ภูเก็ต เป็นต้น “รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์” รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัทโรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) บอกว่าในช่วงโลว์ซีซั่นราคาแพ็กเกจห้องส่วนใหญ่จะลดลงมากถึง 60% โดยเฉพาะเวลานี้ ที่กำลังโปรโมตทะเลฝั่งอันดามันให้กับทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ในช่วงโลว์ซีซั่น ด้วยโปรโมชั่น ที่เซนทาราซีวิว เขาหลัก โรงแรมหรูระดับ 5 ดาวในราคาเริ่มต้นที่ 9,900 บาท สำหรับ 3 วัน 2 คืน บวกอาหารเช้าทุกมื้อพร้อมทัวร์รอบเกาะสิมิลันฟรี 1 วันเต็มและนวดแผนไทยฟรี 1 ชั่วโมงต่อสองคน ขณะเดียวกันยังมีโปรโมชั่นร้านอาหารที่เซนทาราหาดใหญ่ ที่สนนราคาเพียง 400 บาทเท่านั้น ขณะที่ “พรทิพย์  หิรัญเกตุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดสทิเนชั่น เอเชีย (ประเทศไทย) บอกว่า ในช่วงโลว์ซีซั่น และเป็นช่วงที่ไทยประสบวิกฤตินักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางจากสาเหตุด้านการเมือง ทำให้บรรดากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกกลุ่ม  ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม บริษัททัวร์ สวนสนุก เรือ ภัตตาคาร หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า ต้องจัดรายการส่งเสริมการขายสินค้า ทางการท่องเที่ยวในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ให้มากขึ้น โดยอาจใช้โมเดลในลักษณะการฟื้นฟูเกาะภูเก็ตในช่วงเกิดสึนามิมาประยุกต์ เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการท่องเที่ยวผ่านแพ็กเกจห้องพัก ซื้อ 2 คืน แถม 1 คืนพ่วงฟรี ค่าเข้าชมสวนสนุก โรงละคร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เพิ่มวันพักเฉลี่ยเป็น 3 วัน จากเดิม 2 วัน หรือประมาณ 20% ในช่วงโลว์ซีซั่น หากมองในภาพรวมแล้วปีม้า…คงเป็นงานหนักของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องปั่นรายได้ทางการท่องเที่ยวให้ได้ตามเป้าหมาย ที่สำคัญหากการเมืองยังคงยืดเยื้อ ความฝันความหวังของ “คนท่องเที่ยว” อาจกู่ไม่กลับมาอีกเลยก็เป็นไปได้!!.  เอวิกานต์ บัวคง ผ่านไปแล้วกว่า 4 เดือน สำหรับปีม้าเดือด! ที่ยังไม่มีใครเห็นอนาคตของประเทศที่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วจะก้าวเดินไปสู่จุดใดกันแน่ ด้วยพิษการเมือง…ที่เห็นต่างจนเป็นบ่อเกิดของความแตกแยก ได้ส่งผลกระทบกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนชั้นกลาง หรือคนที่มีรายได้น้อย ต้องหนีไม่พ้นเคราะห์กรรมที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ  ด้วยเหตุนี้… ได้ทำให้บรรดากูรู บรรดานักวิชาการ นักวิเคราะห์ ภาคเอกชน รวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศต้องตกอยู่ในอาการอกสั่นขวัญแขวน เพราะถ้าปัญหาการเมืองยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว สุดท้าย… การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะไม่เกิดขึ้นแน่ และอาจเป็นชนวนให้เกิด “วิกฤติ” ขึ้นได้   ดังนั้นเพื่อสะท้อนภาพออกมาให้ชัดขึ้น “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” จึงได้รวบรวมหลากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ที่แสดงความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไปรอดหรือไม่? เปิดประตูสู่รัฐล้มเหลว หันมาที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง ที่ได้เปรียบเปรยสถานการณ์ของเมืองไทยไว้ชัดเจนว่า ในอดีตที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แต่เรารอดมาได้ เพราะภาคเกษตรกรรมที่ชาวนาไม่ได้รับผลกระทบ มีคำกล่าวว่า ถ้าชาวนาตาย 1 คน พ่อค้าตาย 100 คน เป็นเรื่องจริง เมื่อชาวนาไม่มีรายได้ อำนาจการซื้อทั้งประเทศทรุดหายไปทันที ขณะที่การไม่มีรัฐบาลจริง ๆ การตัดสินใจหลักไม่สามารถทำได้ อำนาจการใช้งบประมาณมีจำกัด ถ้าหากการเมืองเป็นแบบนี้ไม่มีนักธุรกิจคนไหนยอมลงทุนเพิ่ม หรือเข้ามาท่องเที่ยว เห็นได้จากเวลานี้นักธุรกิจญี่ปุ่นมาเมืองไทยก็จะรอที่สนามบินแล้วให้นักธุรกิจไทยไปพบแถวนั้นเป็นเป็นภาพที่น่าห่วงมาก    สถานการณ์เเบบนี้เรียกว่า เปิดประตูและเดินไปในโซนที่เรียกว่า เฟลด์ สเตท หรือรัฐล้มเหลว ไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังเปิดประตูเดินเข้าไปแล้ว ซึ่งอย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย เพราะเพียงเท่านี้บรรยากาศแบบนี้ คิดหรือว่าจะสามารถปฏิรูปอะไรได้ แทนที่จะปฏิรูปเดินหน้า กลับกลายเป็นการผลักเมืองไทยให้เข้าสู่ ’มุมอับ“ ที่ทำอะไรไม่ได้  การเมืองยืดเยื้อฉุดจีดีพี ขณะที่อีกหนึ่งกูรูที่สังคมเชื่อมั่น อย่าง “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ในระดับที่ต่ำ หรือประมาณ 3% แต่ถ้าเหตุการณ์การเมืองยังยืดเยื้อไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการประเทศอย่างแท้จริง ก็อาจได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำกว่า 3% แต่ถ้าโชคดี มีรัฐบาลที่สามารถทำได้เต็มที่จริงจังสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะคลี่คลาย และภาคการส่งออกของไทยแข่งขันได้ดี รวมถึงปัญหาการเมืองหมดไป เศรษฐกิจอาจโต 4-5% ได้ แต่ผลของประชานิยม โครงการรับจำนำข้าว และโครงการรถคันแรก ยังมีอยู่ไปอีกปีนี้ปีหน้า อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่การส่งออกเติบโตได้น้อย จะทำให้ประเทศขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้รายได้ภาษีลดลง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้การขาดดุลรายได้ของรัฐบาลยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจตามความจำเป็น โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หวังส่งออกช่วยประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ย่อมทำให้ภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากไปด้วย โดยเฉพาะบรรดานักอุตสาหกรรม ซึ่ง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า เชื่อได้เลยว่าเศรษฐกิจไทยในปีม้าปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% แน่นอน เหมือน ๆ กับที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว ซึ่งเรื่องนี้ภาคเอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะในเวลานี้เศรษฐกิจทั่วเอเชีย ต่างขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4-5% ขณะที่เครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในขณะนี้คือเรื่องการส่งออก ที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 2 เชื่อว่า จะดีกว่าในไตรมาสแรก เห็นได้จากการลงทุนเริ่มกลับมาบ้างแล้ว และแนวโน้มการลงทุนต่อไปในอนาคตเริ่มดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลผ่าทางตัน เตรียมตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชุดใหม่  ทำให้คำขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างรอบอร์ดชุดใหม่อนุมัติกว่า 660,000 ล้านบาท สามารถเริ่มทยอยอนุมัติได้อย่างต่อเนื่อง การเมืองเหมือนรถไฟ เริ่มจาก… กูรูเก่าแก่ มากประสบ การณ์อย่าง “ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาเตือนสติและบอกกับสังคมว่า การเมืองก็เป็น การเมือง เหมือนรถไฟพอถึงสถานีก็จอด เมื่อจอดแล้วถึงเวลาก็ไป เป็นเรื่องธรรมดาอย่าไปตื่นเต้น และคาดการณ์อะไรไม่ได้ เพราะการเมืองไม่เหมือนเศรษฐกิจ ที่มีกลไกตลาดสามารถทำให้พยากรณ์ได้ แต่การเมืองพยากรณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความคิดของคนไม่เกิน 10 คน ฉะนั้นอย่าไปพยากรณ์ คิดซะว่าเป็นของปกติที่ต้องเกิดขึ้น แล้วอีก 30 ปีก็เกิดขึ้นใหม่ แต่อาจมีผลกระทบฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำบ้าง แต่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อใดที่รถไฟเคลื่อนออกจากสถานี ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะกลับมา แต่คาดว่าเศรษฐกิจรอบนี้อาจไม่เติบโต หรืออาจติดลบได้ ขึ้นอยู่กับการเมืองที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ แต่ยืนยันว่าประเทศจะไม่มีรัฐบาลบริหารไม่ได้ นอกจากนี้โลกได้เปลี่ยนไปหมดเป็นโลกาภิวัตน์ ไร้พรมแดน โลกาภิวัตน์ เป็นเหตุให้เกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ีไทยเป็นสมาชิกของประชาคมโลก ย่อมหนีไม่พ้นที่ต้องปรับความคิด ปรับวิธีการทำงานใหม่ เพื่อให้แข่งขันได้ บล.ภัทรเล็งปรับจีดีพีใหม่ เช่นเดียวกับความเห็นของ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่เชื่อว่า ในครึ่งปีแรกของปี 57 นี้ เศรษฐกิจไทยมีความสามารถเติบโตได้เพียง 0.6% เท่านั้น ขณะที่ในครึ่งปีแรกก็มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกัน โดย บล.ภัทร เอง เตรียมปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีม้าใหม่ ซึ่งเชื่อว่าอาจต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.8% เพราะว่าไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ทันในช่วงครึ่งแรกของปี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาเป็นโมฆะไป ไม่เพียงเท่านี้ยังเชื่อว่านายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือนายกฯคนกลาง อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากที่กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ผ่านไปแบบเรียบร้อยไม่มีปัญหา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ว. มีสิทธิสามารถเลือกนายกฯ และนำเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 ได้ แต่วิธีการเช่นนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับจากในหลาย ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงคู่ขัดแย้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดการคัดค้านและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไปอีก ขณะที่การจัดการรัฐบาลยังล่าช้าออกไป จนทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แนะดันส่งออกกู้วิกฤติ ขณะที่ภาครัฐ ที่เป็นเสาหลักด้านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แนะว่า สิ่งสำคัญจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งรัดการส่งออกให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้จากตลาดหลัก และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนการปรับตัวของภาคการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค โดยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งผ่านชายแดน รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่แค่เพียงเท่านี้ ภาครัฐจำเป็นต้องกำกับดูแลแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เตรียมความพร้อมแผนงาน และโครงการที่จะต้องพิจารณาให้  ครม.ชุดใหม่ดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินต้องเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไป และการดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยติดลบ1% ด้านภาควิชาการอย่าง “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีม้าเดือดเช่นเดียวกับกูรูและเอกชน เช่นกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่จะติดลบ 1% มีความเป็นไปได้สูงมาก โดยเป็นการตั้งสมมุติฐานว่า หากในปีนี้ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลและไม่มีการลงทุนของภาครัฐใด ๆ เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบในทันทีอย่างรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวจนไปถึงติดลบได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ามองในแง่ดีคือมองว่า หากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองจบเร็ว สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 นี้ รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐเริ่มดำเนินการได้ ก็จะส่งผลดีทำให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้งประชาชน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว กลับมามีความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ที่ 2.5% ส่วนการส่งออกในเบื้องต้นนั้น คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 4% หลังจากที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น หวั่นแรงงานเตะฝุ่นพรึ่บ หันมาที่ทีดีอาร์ไอ หรือสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ที่ “ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ มองว่า ตามหลักการแล้ว หากเศรษฐกิจไทยเติบโต ได้ต่ำกว่า  4% อาจส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1% จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 0.7-0.8% ดังนั้น หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไปอีก 6 เดือน หรือ 1 ปี ผลกระทบของภาคแรงงาน จะปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตที่อ่อนไหว คือ อุตสาหกรรมและภาคบริการ ที่เป็นแหล่งดูดซับแรงงานแบบเข้มข้นหลายสาขา    ปัญหาที่น่าวิตก และคาดว่าปรากฏได้ชัดเจนในครึ่งปีหลังของปีนี้ และปีถัดไป คือ ผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่ทำให้นักลงทุนชะลอหรือตัดสินใจไม่ลงทุนใหม่ หรือย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น ซึ่งมีผลกระทบกับแรงงานมากพอสมควร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรองรับแรงงานมากกว่า 300,000-400,000 คน  คลังลุ้นมีรัฐบาลใหม่ แม้สภาพัฒน์ได้แนะนำให้เร่งรัดในเรื่องของการส่งออก แต่อีกหนึ่งเสาหลักเศรษฐกิจอย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. โดย “สมชัย สัจจพงษ์”  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. บอกว่า สศค.ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 2.6% แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขหลักคือ ต้องมีรัฐบาลใหม่ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะมองว่าการบริโภคในประเทศในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 56 กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เห็นได้จากข้อมูลทางเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวหมด โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่กลับมาหดตัวถึง 2.4% ในรอบ 2 เดือน   ที่สำคัญหากรัฐบาลจัดตั้งได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้เศรษฐกิจในปีม้านี้ยิ่งเตี้ยต่ำลงไปมากกว่า 2.6% เข้าไปอีก โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐ ที่มีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม  หวังปีหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ด้าน “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ธปท.ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลงเช่นกัน โดยเหลือเพียง 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3% เนื่องจากการชะลอลงของอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลงชัดเจนในครึ่งปีแรก โดย ธปท.มองว่าหากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายภายในกลางปีนี้ จะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวได้ดีขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 58 ที่มองว่าอาจขยายตัวได้ 4.8% สำหรับแรงกระตุ้นทางการคลังขณะนี้ยังทำได้จำกัด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาล คาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 57 อยู่ที่ 90.5%

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชน-รัฐโหมจัดโปรโมชั่น กระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไทย

Posts related