ต้องยอมรับว่าจากปัญหานโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงความวุ่นวายทาง การเมืองได้ทำให้บรรดาเถ้าแก่เล็กเถ้าแก่ใหญ่และเอสเอ็มอีไทยต้องนั่งปวดหัวกุมขมับกันเป็นแถว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ห้วงภาวะสุญญาการทางการเมือง ที่ยังไม่มีอนาคตว่าจะถึงจุดจบเมื่อใด ยิ่งซ้ำเติมให้เอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญกับสารพัดปัญหาสารพัดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยไม่รู้ว่าต่อจากนี้อนาคตของตัวเองจะเป็นเช่นไร เพราะไม่มีนโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาล ผลของความไม่แน่นอนว่าไทย จะมีรัฐบาลตัวจริงที่มีอำนาจเต็มได้เมื่อใด?  ได้ส่งผลให้บรรดาเถ้าแก่เหล่านี้ต่าง “ต้องดิ้นต้องตะกาย” เพื่อหนีตายจากการทำธุรกิจ ทั้งการช่วยเหลือตัวเอง หรือไม่ก็ช่วยเหลือเครือข่ายให้ประคองกิจการอยู่รอดต่อไป เพื่อรอความหวังว่าจะมีรัฐบาลตัวจริงเสียงจริงเข้ามาเยียวยา  เคราะห์ซ้ำกรรมซัด  เพราะหากมัวแต่นั่งรอให้รัฐบาลเข้ามาช่วย… รับรองได้ว่าบรรดาเอสเอ็มอีเหล่านี้ต้องชัตดาวน์ตัวเองกันระนาวแน่ ก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 แน่นอน เนื่องจากรัฐบาลรักษาการที่มีอยู่ในตอนนี้ก็ยังเอาตัวเองไม่รอดจากการชุมนุมขับไล่ของกลุ่มมวลมหาประชาชน และการทวงเงินค่าข้าวของกลุ่มชาวนา ทั้งนี้ยอมรับว่าผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาอื่น ๆ ที่มีก่อนหน้านี้เหมือนกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ทำให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้ลำบากมากเนื่องจากผู้บริโภคไม่มีอารมณ์ที่จะจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้า จนส่งผลให้สินค้าค้างในสต๊อกจำนวนมาก ประกอบกับลูกค้าชะลอการจ่ายค่าสินค้า หรือจ่ายก็ไม่เต็มวงเงิน หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อนานเท่าใด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคงมี 2 ทางให้เลือก คือ ต้องปิดกิจการเพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด  หรือจะเลือกเดินหน้าสู้ต่อไป โดยการหาสถาพคล่องและปรับกลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อประคองกิจการจนกว่าเศรษฐกิจจะดีและมีรัฐบาลใหม่ ปรับแผนดิ้นหนีตาย  ส่วนแนวทางในการปรับตัวของเอสเอ็มอีในช่วงสุญญากาศทางการเมืองนั้น “เพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด”นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สมาคมเอสเอ็มอีไทย) มองว่า ขณะนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีการรวมกลุ่มในการขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจในกลุ่มด้วยกัน เบื้องต้นคงจะให้ความสำคัญในการทำตลาดบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น  โดยสาเหตุที่เอสเอ็มอีให้ความสำคัญตลาดค้าชายแดนเพราะผู้ประกอบการได้เป็นเงินสดทันที  ซึ่งเป็นหนทางที่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องระดับหนึ่ง ที่สำคัญเพื่อนบ้านไทยอย่างกัมพูชา เมียนมาร์ ลาว  เริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้นและเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันทางสมาคมฯ ได้เตรียมหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกมากขึ้น เพราะหากรอให้ภาครัฐมาช่วยเหลือคงไม่ได้ เนื่องจากภาครัฐเองยังเอาตัวเองไม่รอด โดยเบื้องต้นเตรียมผลักดันให้มีการจัดงาน “เอสเอ็มอีเดย์” ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนไทยมีการใช้สินค้าไทยทั้งในด้านของกิน ของขวัญ ของชำร่วย และ สินค้าทั่วไป  ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าจะสร้างกระแสให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าไทยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรณีที่สามารถเร่งดำเนินการได้ในปัจจุบัน คือ การหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง รวมไปถึงการลดภาษีเอสเอ็มอี หรือแม้แต่การหาช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติม หรือการสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศไทย และสุดท้ายคือเร่งแก้ปัญหาความยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้เร็วที่สุด แนะลดรายจ่าย  ขณะที่ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เสนอแนะแนวทางการปรับตัวแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม และร้านค้าต่าง ๆ ว่า ประการแรกต้องจำใจก่อนเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เอสเอ็มอีได้สู้ต่อไปจากนั้นก็เน้นรักษาสภาพคล่องไว้ การประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงที่ขายของลำบากการประหยัดรายจ่าย โดยเฉพาะการหยุดรับ หรือลดคนงานในช่วงนี้ไปก่อน นอกจากนี้เถ้าแก่น้อยเถ้าแก่ใหญ่ก็ต้องหารายได้ทางอื่นๆ ในลักษณะเชิงรุกหรือการบริการส่งสินค้าให้ถึงบ้านลูกค้า และการดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดเพื่อรักษาสัดส่วนตลาดก่อนที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายและเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว เร่งเสริมสภาพคล่อง  ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวที่มีการประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากสุดจากปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ “ปิยะมาน เตชะไพบูลย์”  ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท. )  ระบุว่า สทท.เตรียมร่วมกับธนาคารกสิกรไทยจัดโครงการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน เช่นการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ บริษัททัวร์ที่มีกว่า 80% ได้รับผลกระทบแล้ว ขณะเดียวกันยังเตรียมเปิดคลินิกสร้างความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะนี้ได้แต่ใช้เงินสำรองจ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่องไปก่อน ซึ่งหากเป็นอุตสาหกรรมใหญ่อาจอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน แต่ภาคท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี มีเงินหมุนเวียนในระบบไม่เกิน 3 เดือน และเหตุการณ์การชุมนุมเริ่มเข้าเดือนที่ 3 แล้ว บวกกับปัจจัยต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอีก 40% ที่ต้องเป็นภาระที่ต้องรั บผิดชอบด้วยจึงทำให้ค่อนข้างได้ รับผลกระทบมาก ชั่วโมงนี้… การพึ่งพาตนเองหรือการสร้างเครือข่ายถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ  เพราะหากหวังพึ่งพารัฐบาลหรือพึ่งพาบุคคลอื่นมากเกินไป เชื่อว่าเถ้าแก่น้อยใหญ่เหล่านี้คงมองไม่เห็นอนาคตแน่นอน!   ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอสเอ็มอีไทยหลังพิงฝา แห่ปรับกลยุทธ์ดิ้นหนีตาย

Posts related