นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดูแลสินค้าที่อยู่ในบัญชีติดตามดูแล 205 รายการว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบภาวะราคาสินค้าในท้องตลาด และให้เน้นเรื่องของขนาดบรรจุของสินค้าต่าง ๆ ว่ามีสินค้าลดปริมาณ หรือลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลงกี่รายการ เพราะถือเป็นการปรับขึ้นราคาทางอ้อม และถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค หากไม่สังเกตให้ดี เนื่องจากประชาชนร้องเรียนว่าสินค้าหลายรายการมีขนาดเล็กลงแม้ราคาจะเท่าเดิม สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มใช้วิธีการลดปริมาณบรรจุและลดขนาดบรรจุ เช่น สบู่ ทั้งแบบก้อนและแบบน้ำ แชมพูสระผม ผงซักฟอก ทั้งแบบผงและน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น “ผมเจอกับตาตัวเอง ตอนไปหาซื้อสินค้า พบว่า ของบางอย่าง เมื่อก่อนขนาดบรรจุขนาดใหญ่ มาวันนี้ลดปริมาณบรรจุหรือปริมาณลง แม้จะขายในราคาเดิมก็ตาม ถ้าผู้บริโภคไม่สังเกต ก็จะไม่รู้สึกว่าสินค้าขึ้นราคา เพราะยังขายในราคาเดิมอยู่ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการขึ้นราคาทางอ้อม เพราะผู้บริโภคแม้จะจ่ายราคาเดิม แต่ได้สินค้าน้อยลง เท่ากับว่าโดนเอาเปรียบไปแล้ว จึงอยากให้ผู้บริโภคคอยสังเกตเวลาเลือกซื้อสินค้าให้มาก ๆ จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ” สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้น กรมฯ กำลังหารือร่วมกับผู้ผลิตว่าจะกำหนดปริมาณและขนาดบรรจุสินค้าชนิดเดียวกัน ให้มีมาตรฐานเหมือนกันได้หรือไม่ แต่หากทำไม่ได้ เพราะเป็นการแข่งขันเสรี ก็จะมาดูว่าสินค้าที่มีแนวโน้มในการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตจากกรมฯ เพื่อปรับราคาหรือไม่ ถ้าต้องขอก่อนปรับ ก็จะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษก่อนให้ปรับราคา โดยจะตรวจสอบว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ส่วนแนวโน้มภาวะราคาสินค้าในขณะนี้ สินค้ายังเคลื่อนไหวเป็นปกติ ไม่มีปัญหาการขาดแคลนหรือการปรับเพิ่มราคา เพราะผู้ผลิตมีการแข่งขันกันสูง อีกทั้งในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าไปจนถึงสิ้นปี จึงไม่มีผู้ผลิตรายใดยื่นเรื่องขอปรับราคา และเชื่อว่า แม้จะพ้นช่วงขอความร่วมมือไปแล้ว ก็จะไม่มีการยื่นขอปรับราคา เพราะแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ส่วนใหญ่ราคาลดลง จึงไม่มีแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิต นายสมชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมฯ กำลังศึกษาและทบทวนบัญชีสินค้าและบริการควบคุมที่จะนำมาใช้ในปี 57 โดยกำลังดูว่าควรจะดึงสินค้าใดออกและนำสินค้าใดเข้าสู่บัญชีควบคุม ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาสินค้าและอุปกรณ์ไอที เพราะเป็นสินค้าที่มีคนใช้เพิ่มมากขึ้น และเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยจะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณา ก่อนเสนอครม.พิจารณาในช่วงต้นปี 57 ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศึกษาแนวทางการดูแลราคาสินค้าในปี 57 หลังจากพ้นช่วงเวลาขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า ที่จะครบกำหนดในช่วงสิ้นปี 56 โดยให้สำรวจภาวะต้นทุนราคาสินค้าที่อยู่ในความดูแลทั้งหมด 205 รายการ ว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกรณีที่อาจจะมีผู้ผลิตสินค้าบางประเภทขอปรับขึ้นราคาสินค้า ปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซีอิ้ว ได้ทำหนังสือมาที่กรมการค้าภายในขอปรับขึ้นราคา โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงโดยเฉพาะถั่วเหลือ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ แต่กรมฯได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการชะลอการขึ้นราคาสินค้าไปก่อนจนถึงสิ้นปีและปีหน้ามาพิจารณาอีกรอบว่าต้นทุนการผลิตเป็นอย่างไร “ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อม หากมีกรณีขอปรับราคาเข้ามา ก็จะได้รู้ว่าต้นทุนต่างๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เชื่อตามต้นทุนที่ผู้ผลิตยื่นเข้ามา เพราะเราต้องศึกษาสำรวจต้นทุนที่เป็นจริงเอาไว้ ถือเป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้า แต่เชื่อว่า เมื่อพ้นช่วงตรึงราคาไปแล้ว สินค้าส่วนใหญ่จะไม่มีการขอปรับราคาสินค้า เพราะต้นทุนหลักอย่างราคาน้ำมันก็ไม่ได้ขึ้น และ ผู้ผลิตมีการแข่งขันกันสูง จึงเบาใจได้”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แฉพ่อค้าตบตาผู้บริโภคแอบลดขนาดสินค้าลง

Posts related