คำถามคาใจของใครหลายคน เรื่องปัญหาเหล็กไร้มาตรฐาน หรือเหล็กเบา เหตุไฉนยังระบาดอย่างต่อเนื่องมานานนับหลายสิบปี ?  ทั้งที่ปัญหาเหล็กไร้มาตรฐาน ถือเป็นเรื่องสำคัญในการก่อสร้างโครงสร้างอาคาร หรือบ้านที่อยู่อาศัย สามารถชี้เป็นชี้ตายในเรื่องความปลอดภัยของอาคาร หรือที่อยู่อาศัยได้ทีเดียว  และผลกระทบจากการใช้เหล็กไร้คุณภาพ มีให้เห็นหลายต่อหลายเหตุการณ์ ทั้งหลังคาถล่ม ตัวตึกทรุด แต่ทำไมยังมีคนกล้าเสี่ยงที่จะนำเหล็กไร้คุณภาพมาใช้ก่อสร้างอาคาร–ที่อยู่อาศัย คำตอบ คือ  สินค้าเหล็ก ถือเป็นสินค้าที่คนซื้อไม่ได้ใช้ ส่วนคนใช้ก็ไม่ได้ซื้อ ! ผู้รับเหมาเห็นแก่ตัวลดต้นทุน ขยายความให้เห็นชัด ๆ คนซื้อ ก็คือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่บางรายเห็นแก่ตัวต้องการลดต้นทุนการก่อสร้าง เพราะเหล็กเบามีราคาถูกกว่าเหล็กที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) หรือที่เรียกว่า เหล็กเต็ม ประมาณ  10-30 % และโดยส่วนใหญ่ เจ้าของอาคาร หรือที่อยู่อาศัย มักไม่มีความรู้เรื่องเหล็ก หรือเทคนิคการก่อสร้าง ทำให้ถูกผู้รับเหมาหลอกขายที่อยู่อาศัยที่ไม่มีคุณภาพได้ง่าย ๆ จึงทำให้เป็นที่มาของคำว่า คนใช้ไม่ได้ซื้อ แม้แต่ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมเหล็กเอง ก็ยอมรับว่า ปัญหาเหล็กเบา หรือเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน มอก. ส่วนใหญ่  เป็นเหล็กรีดซ้ำ  หรือการนำเศษเหล็กที่ใช้งานแล้วหรือเศษเหล็กเสียสภาพมารีดใหม่อีกครั้ง ได้แพร่ระบาดมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีการระบาดในท้องตลาดกว่า 40% ของจำนวนเหล็กเส้นที่ขายทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะมีการตรวจสอบน้อยกว่าในกรุงเทพฯ มาถึงเวลานี้ ต้องยอมรับว่า “ปัญหาเหล็กเบา” เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข เพราะผู้ประกอบการผลิตเหล็กรายเล็ก ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทผลิตเหล็กขนาดใหญ่ได้ โรงผลิตเหล็กรายเล็ก จึงหันมาใช้วิธี ลดขนาดเหล็กเส้น แล้วขายถูกกว่าเหล็กเต็ม เพื่อลดต้นทุน เช่น เหล็กเส้นขนาด 12 ซม. จะลดลงเหลือ 10 ซม. ซึ่งเป็นช่องทางที่ยังขายได้ เนื่องจากยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างหลายราย  มักลดต้นทุนก่อสร้าง  จึงหันมาซื้อเหล็กเบาแทนเหล็กเต็ม ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีปัญหาใหญ่ คือ โทษของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่เวลานี้ดูเหมือนว่าจะ “เบาหวิว” เพราะมีโทษน้อยทำให้คนที่ทำผิด “ฮึกเหิม” จนไม่สะท้านต่อตัวบทกฎหมาย แม้ว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเร่งปราบปรามอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะเมื่อใดที่ตรวจพบว่า มีร้านค้าจำหน่ายเหล็กเบา จะดำเนินการเพียงการตัดทำลายบางส่วน และมีโทษปรับเพียงเล็กน้อย คือ 5,000-50,000 บาท และมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ส่วนเหล็กของกลางที่จับได้ มีน้ำหนักมากหลายพันตันยากแก่การเคลื่อนย้าย ทำให้ต้องฝากของกลางไว้กับผู้กระทำความผิด จึงเป็นช่องโหว่ ที่จะค่อย ๆ นำของกลางมาขายต่อได้ แนะแก้กฎหมายจับยึดเข้ารัฐ ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงเช่นนี้ จึงทำให้บรรดาผู้ประกอบการต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือ ควรแก้กฎหมายกำหนดให้ชัดเจนเลยว่า ห้ามมีการผลิตเหล็กเบา หรือถ้ามองว่า ให้ผลิตได้ ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า สามารถผลิตเพื่อนำไปใช้อะไรได้บ้าง เช่น สุ่มไก่ หรือการก่อสร้างที่ไม่ได้รับน้ำหนักมาก และเหล็กเบาที่ยึดมาได้นั้น ควรนำมาเป็นของรัฐ และควรลงทุนก่อสร้าง หรือเช่าโกดังเก็บของกลาง ไม่ควรเก็บไว้กับผู้ประกอบการที่กระทำความผิด จากนั้นให้นำไปตัดทำลายขายให้กับโรงหลอมเหล็ก แล้วนำรายได้เข้ารัฐ เชื่อว่า ช่วยแก้ปัญหาให้ลดลงได้ ตั้งทีมตรวจเหล็กเข้มข้น ด้านผู้รับผิดชอบตรวจสอบปัญหาเหล็กโดยตรง ก็มองว่า ปัญหาเรื่องเหล็กเบา เป็นปัญหาใหญ่ที่ สมอ. ให้ความสำคัญในการตรวจจับมาโดยตลอด เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยผู้บริโภคโดยตรง  โดย “อุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร” เลขาธิการ สมอ. บอกว่า เวลานี้ สมอ. ได้ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจขึ้นมา 1 ชุด เพื่อตรวจสอบดูแลอย่างเข้มงวด รวมไปถึงการออกตรวจจับแบบเอกซเรย์ทุกพื้นที่ และล่าสุดได้แยกกองตรวจการมาตรฐานออกมา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยเฉพาะ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า ระเบียบข้อบังคับในปัจจุบัน ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร สมอ.อยู่ระหว่างทบทวนกฎระเบียบข้อบังคับที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยสูงสุด เปิดวิธีตรวจเหล็กมาตรฐาน วิธีตรวจสอบเหล็กที่ดีเบื้องต้น ผู้บริโภคควรใส่ใจดูผู้รับเหมาก่อสร้างเวลาซื้อเหล็ก มีเครื่องหมาย มอก. ซึ่งจะมีการแสดงรายละเอียดบนผิวเหล็กชัดเจน  เช่น เหล็กข้ออ้อย จะมีรอยประทับตัวนูนบนเนื้อเหล็กอย่างเห็นได้ชัด ทั้งชื่อผู้ทำ หรือโรงงานที่ทำ ชื่อขนาด ชั้นคุณภาพ  ส่วนที่มัดเหล็ก จะต้องมีป้ายที่ไม่ฉีกขาด หรือหลุดง่าย ระบุรายละเอียด เช่น ชั้นคุณภาพ, ชื่อขนาด, ความยาวเป็นเมตร หรือมวลเป็นกิโลกรัม, หมายเลขการหลอม, ชื่อผู้ทำหรือโรงงานผู้ผลิต ส่วนผิวเหล็ก ต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง หน้าตัดกลม ไม่เบี้ยว ไม่มีรอยปริแตก, เหล็กข้ออ้อย ต้องมีบั้งระยะเท่ากัน สม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น, เส้นผ่าศูนย์กลางและน้ำหนักถูกต้อง เช่น เหล็กเส้นกลม เอสอาร์-24 ขนาดบนเนื้อเหล็ก 9 มม. เมื่อวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ต้องได้ 9 มม. ชั่งน้ำหนักต้องได้ 0.499 กก. ต่อความยาว 1 เมตร คลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย, ดูรอยตัดหัวท้าย ต้องได้มาตรฐานเรียบเพื่อให้แสดงความหนาของเหล็กชัดเจน โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สมอ.  www.tisi.go.th นี่คือสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคควรหันมาใส่ใจในเรื่องรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความปลอดภัย เพราะไม่รู้ว่าจะเจอผู้รับเหมาที่ขาดจิตสำนึก เอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่  ส่วนหน่วยงานภาครัฐเอง ก็ควรหันมาจริงจังแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟางเหมือนในอดีต. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แฉ‘เหล็กเบา’ระบาดซ้ำซากแนะแก้ก.ม.-ผู้บริโภคใส่ใจ

Posts related