เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายอังคาร พวงนาค ผู้อำนวยการสำนักกำกำและตรวจสอบเครื่องชั่ง กรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้กลยุทธการโกงตาชั่งเอารัดเอาเปรียบอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะใช้แนวทางโกง 3 วิธี ประกอบด้วย การแกะเครื่องและเปลี่ยนสปริง, การเปลี่ยนหน้าปัดและสปริง, การเปลี่ยนถาดที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าไม่เต็มน้ำหนัก หรือเฉลี่ยที่ 8-9 ขีดต่อน้ำหนักที่ซื้อไป 1 กก. ทั้งนี้ในยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของกรมฯมีน้อยเพียง 150 คนทั่วประเทศหากอนุมัติเพิ่มกำลังคนเป็น 500 คนก็จะทำให้การเข้าไปตรวจสอบเครื่องชั่งในตลาดต่างๆ ทั่วถึงมากขึ้น ในเบื้องต้นได้ขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไปช่วยกันแจ้งมายังที่กรมเพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือศูนย์ชั่งตวงวัดภาคหรือสำนักงานชั่งตวงวัดสาขาทั่วประเทศ “กลโกงของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเรื่องของเครื่องชังวัดจะมีหลายวิธี โดยแต่ละปีกรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปมาตรฐานเครื่องในโรงงานต่างๆทั่วประเทศปีละ 600,000 เครื่องซึ่งได้มาตรฐานหมดแต่เมื่อนำมาจำหน่ายก็จะมีพ่อค้าบางรายที่นำมาดัดแปลงใหม่ ซึ่งตรงจนี้ในแต่ละปีจะส่งเจ้าหน้าที่ส่งไปตรวจเครื่องชั่งในตลาดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่พ่อค้าโกงตาชั่ง ส่วนใหญ่พ่อค้าก็ให้ความร่วมมือและต้องการเครื่องหมายรับรองตราครุฑของกรมอย่างมากเพื่อเป็นตัวการันตีของปริมาณน้ำหนักที่ตรง” สำหรับข้อแนะนำการสังเกตุเครื่องชั่งสปริงที่ไม่ถูกต้อง เช่น ต้องตรวจสอบเครื่องหมายรับรองจากกรมฯซึ่งเป็นตราครุฑติดไว้, ไม่มีการหักเข็มชี้น้ำหนักเพราะทำให้เครื่องอ่านน้ำหนักไม่ถูกต้อง, ตัวเลขถาดกับตัวเลขเครื่องที่จะระบุว่าต้องตรงกัน, ต้องไม่มีวัสดุอื่นหรือนำสีมาพ่นหน้าปัดด้านใดด้านหนึ่งหรือการนำกระดาษมาปิดอีกหน้าหนึ่งของเครื่องชั่ง, การใช้เครื่องที่ทำด้วยพลาสติกหรือเครื่องชั่งที่อยู่ในสภาพชำรุด เป็นต้น นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. กรมฯ ได้ทำลายเครื่องชั่งน้ำหนักที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสภาพไม่ถูกต้อง โดยแยกเป็นเครื่องชั่งที่นำเข้ามาไม่ถูกต้อง โดยสำแดงว่าเป็นเครื่องชั่ง 7 กก. แต่กลับเป็นเครื่องชั่ง 120 กก. ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 60 กก. โดยกรมศุลกากรได้ยึดไว้และส่งมาให้กรมฯ ทำลายทิ้งตามกฎหมาย กับเครื่องชั่งที่ยึดได้จากตลาดทั่วไป รวมแล้ว 1,248 เครื่อง ณ บริเวณโรงเก็บรถเครน สำนักกำกับและตรวจสอบเครื่องชั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเครื่องที่ไม่ถูกต้องออกไปใช้ได้อีก และป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ทั้งนี้ ในปี 56 กรมฯ ได้ตรวจสอบเครื่องชั่ง 255,983 เครื่อง ถูกต้อง 254,633 เครื่อง ไม่ถูกต้อง 1,350 เครื่อง แยกเป็นผู้ประกอบการตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 131 แห่ง ตรวจสอบเครื่องชั่ง 17,965 เครื่อง พบถูกต้อง 17,549 เครื่อง และไม่ถูกต้อง 416 เครื่อง และในภูมิภาค ตรวจสอบเครื่องชั่ง 238,018 เครื่อง พบถูกต้อง 237,084 เครื่อง และไม่ถูกต้อง 934 เครื่อง “การใช้เครื่องชั่งสปริงที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัด อาทิ เครื่องชั่งทำด้วยพลาสติก และเครื่องชั่งที่มีความเที่ยงตรงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดที่กำหนด สภาพเครื่องชั่งชำรุดทรุดโทรม เมื่อตรวจพบเจ้าหน้าที่จะยึดเครี่องชั่งดังกล่าว เพื่อมิให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนักนั้นต่อไป และหากตรวจพบว่ามีเจตนาใช้เพื่อเอาเปรียบทางการค้าจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัด มีโทษจำคุก 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสมชาติ กล่าว นายจรัญ จัดหงษา นายกสมาคมผู้ประกอบการเครื่องชั่งไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยลักลอบนำเข้าเครื่องชั่งสปริงจากเวียดนามจำนวนมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานกว่าไทยและสามารถชั่งน้ำหนักได้ 120 กก. ต่างจากของไทยที่กฎหมายให้ชั่งไม่เกิน 60 กก. และต้องมี 2 หน้า โดยส่วนใหญ่ก็จะนำเข้ามาใช้ในการชั่งสินค้าในตลาดค้าส่งและชั่งน้ำหนักยางพารา.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แฉ3 วิธีโกงตาชั่ง

Posts related