นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเค การ์เมนท์ จำกัด ผู้ผลิตระดับโลก 90 ยี่ห้อ เปิดเผยในงานสัมมนา ” เจาะช่องทางการค้า การลงทุน ในประเทศกัมพูชา  พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย” ว่า ปัจจุบันเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อผ้ายี่ห้อดังระดับโลกเริ่มขอให้ผู้รับจ้างผลิตเสื้อผ้าในไทยพิจารณาไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า และกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยและการผลิตเสื้อผ้าในเพื่อนบ้านสามารถใช้สิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในตลาดยุโรป สหรัฐ และประเทศพัฒนาอื่นๆ “ตอนนี้ไทยถูกตัดจีเอสพีแล้วก็จะทำให้เสื้อผ้าที่ผลิตจากไทยต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นในตลาดใหญ่ๆ ในอัตรา 12-17% หากเจ้าของแบรนด์นำสินค้าไปขายในหลายๆตลาดก็จะเสียเปรียบเรื่องราคาในการแข่งขัน ดังนั้นผู้รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของไทยก็ได้ไปตั้งโรงงานในเพื่อนบ้านจำนวนมากแล้ว ส่วนรายที่ยังไม่ไปก็จะถูกเจ้าของสินค้าบีบให้ไปตั้งโรงงาน เพราะในไทยต้นทุนค่าแรงแพงมากอยู่ที่ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ แต่เพื่อนบ้านอยู่ที่ 100-130 บาทต่อวันและที่สำคัญไม่ขาดแรงงานด้วย” ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเข้าไปลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเมือง บันเดียเมียนเจย ประเทศกัมพูชาแล้วก่อนหน้านี้ซึ่งมีผู้ประกอบการไทยทั้งที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้า และสินค้าอื่นๆเข้ามาตั้งโรงงานหลายราย โดยค่าแรงในกัมพูชาจาก1-2 ปีก่อนเฉลี่ยที่ 80 บาทต่อวันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 100-130 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการรวมทั้งค่าจ้าง เบี้ยขยันและสวัสดิการอื่นๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการไทยรับได้ สำหรับกิจการของกลุ่มทีเค การ์เมนท์ จำกัดที่ไปลงทุนในเวียดนามนอกจากจะมีการตั้งโรงงานในผลิตเสื้อผ้าแล้ว ยังมีกิจการโรงแรมธารา อังกอร์  ที่จังหวัดเสียม, บริษัททัวร์, ภัตตาคาร เพื่อรองรับการขยายตัวของท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชา เนื่องจากต่างชาติให้ความสนใจในการเข้ามาท่องเที่ยวในกัมพูชาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสถานที่สำคัญอย่างนครวัด และนครธม  เป็นต้น นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเออีซี วงเงินเบื้องต้น 1,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ต้องการไปลงทุนในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะพม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย เป็นต้น ในอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายและช่วยลดต้นทุนในการแข่งขัน “ที่ผ่านมาประเทศต่างๆก็ได้มีการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องผู้ประกอบการให้ไปลงทุนในเพื่อนบ้าน เช่น จีน และ เวียดนาม ดังนั้นในส่วนของไทยก็ควรจำเป็นต้องมีกองทุนให้เอสเอ็มอีกู้บ้าง หากดำเนินการได้ก็จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยมีความพร้อมมากขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดเออีซีในปี 58” นายอัทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการศึกษาราคาที่ดินในเขตพื้นที่ลงทุนของประเทศในอาเซียนพบว่าเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า มีอัตราของราคาที่ดินเพิ่มมากที่สุดโดยเพิ่มจาก1-2 ปีก่อนประมาณ 200-300% เนื่องจากมีนายหน้าปั่นราคาเพื่อขายให้แก่นักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มทุนจากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ที่พร้อมจะทุ่มเงินในการซื้อหรือเช่าพื้นที่รองรับการเปิดเออีซีและรับการเปิดนิคมอุตสาหกรรมทวาย ส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากไม่สามารถที่จะเช่าที่หรือซื้อที่ดินในการดำเนินธุรกิจได้เพราะไม่คุ้มทุน นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการระดับสูงกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในระยะหลังการลงทุนจากต่างชาติโดยตรงในประเทศไทยเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยในปี 56 สิงคโปร์ยังมีเม็ดเงินจากต่างเข้ามาลงทุนมากที่สุดที่ 56,651 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 19,853 ล้านเหรียญฯ มาเลเซีย 10,074 ล้านเหรียญฯ ไทย 8,067 ล้านเหรียญฯ เวียดนาม 8,368 ล้านเหรียญฯ “ยอมรับว่าหากเป็น 4-5 ปีก่อนไทยจะเป็นเบอร์ 2 ที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพราะเป็นประเทศน่าสนใจมาก แต่ในระยะหลังๆ ประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างได้รับความสนใจจากต่างชาติ โดยเฉพาะพม่า และ กัมพูชา”  แบรนด์เสื้อผ้าโลกบีบโรงงานไทยย้ายฐานผลิตตั้งในเพื่อนบ้าน อ้างต้นทุนการผลิตถูก- หวังพึ่งจีเอสพี ด้าน  ม.หอการค้าชงตั้งกองทุนเออีซี 1,000 ล้านปล่อยกู้เอสเอ็มอี ระบุเมืองย่านกุ้ง ที่ดินพุ่ง 300% รอเก็งกำไรทุนต่างชาติ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะโรงงานไทยย้ายฐานผลิตหวังใช้สิทธิจีเอสพี

Posts related