นางสุดาพร จันทร์วัฒนากุล ในฐานะประธานชมรมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมจัดตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย (ไมโครไฟแนนซ์) โดยไม่มีหลักทรัพย์และบุคคลค้ำประกัน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ว่า เป็นแนวทางที่ดีที่ภาครัฐต้องการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนรากหญ้าให้เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน กำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย แต่เบื้องต้นคาดว่าเอกชนจะไม่ค่อยสนใจหรือมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีขัอกำหนดหลายด้าน เช่น กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 36% ต่อปี ห้ามปล่อยข้ามจังหวัด เป็นต้น “เบื้องต้นเชื่อว่าคงน้อยมากในการจูงใจที่จะทำให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ แม้ว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถลดการเกิดการทวงหนี้ที่รุนแรงได้ แต่เงื่อนไขต่างๆที่ไม่สามารถดำเนินการได้ดีเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบ อาจส่งผลให้ภาคเอกชนหลายรายยังเลือกที่จะอยู่นอกระบบมากกว่า” นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การจัดตั้งไมโครไฟแนนซ์คาดว่าจะช่วยกวาดล้างกลุ่มหนี้นอกระบบได้อย่างแน่นอน ส่วนจะสามารถดึงเจ้าหนี้นอกระบบหรือกลุ่มภาคเอกชนให้เข้ามาดำเนินธุรกิจได้หรือไม่นั้น เชื่อว่า คงต้องรอดูกระบวนการอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งต้องดูรายละเอียดในส่วนของมาตรการการป้องกันหนี้ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังจากที่กลุ่มรากหญ้าเข้ามาอยู่ในระบบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย เชื่อว่า จะไม่ลงไปเล่นตลาดกลุ่มที่เป็นลูกค้าระดับล่างมากๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ประกอบกับโครงสร้างของธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันไม่เหมาะที่จะดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แบงก์หวั่นทวงหนี้ยาก

Posts related