รายงานข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ ได้ทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว 2 ขาทั้งดอกเบี้่ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก ในอัตราตั้งแต่ 0.05-0.25% ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยให้มีผลทันทีเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา แบ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ลง 0.25% เหลือ 6.75 % ต่อปี, ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลง 0.10% เหลือ 8% รวมทั้ง ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา ลง 0.125% เหลือ 0.625% และปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลดลง 0.05-0.15% ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ลง 0.25% จาก 7.00% เป็น 6.75% และดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) ลง 0.10% จาก 7.48% เป็น 7.38% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาได้ปรับลดลง 0.12% จากเดิม 0.75% เป็น 0.63% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.05%-0.20% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.56 นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยลดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ จาก 7.000% เป็น 6.875% และอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ จาก 8% เป็น 7.750% ส่วนเงินฝากได้ลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 0.125-0.250% โดยทั้งหมดมีผลตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.56 เป็นต้นไปนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามนั้น เชื่อว่าคงประเมินแล้วว่าสินเชื่อมีแนวโน้มจะชะลอตัวในระยะข้างหน้าตามทิศทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความจำเป็นในการแข่งขันระดมเงินฝากอาจน้อยลง ซึ่งต้องประเมินสภาพคล่องและต้นทุนว่าเป็นอย่างไร แม้การลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อต่อปัจจัยเสี่ยงในการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยตามกนง.

Posts related