บทเรียนหนึ่งที่ได้รับจากความเสียหายของโครงสร้างนับพันหลังคาเรือนจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายคือ โครงสร้างบ้านเรือนที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมเป็นสาเหตุหลักให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายเนื่องจากชาวบ้านก่อสร้างบ้านกันตามความเข้าใจของตัวเองหรือลอกเลียนแบบจากบ้านข้างเคียง โดยเน้นที่ราคาประหยัดเป็นหลักจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม                 หน่วยงานราชการจึงควรจัดหาแบบบ้านมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นตัวอย่างในการก่อสร้างบ้านให้ปลอดภัยสำหรับบทความนี้จะขอเสนอตัวอย่างการเสริมเหล็กในโครงสร้างบ้านปูนเพื่อต้านแผ่นดินไหวโดยมีรายละเอียดของ คาน เสา ข้อต่อระหว่างคานและเสา และการทำของอที่ปลายเหล็กปลอกดังนี้ 1.            แบบเสริมเหล็กคาน บริเวณที่ต้องเสริมเหล็กให้แข็งแรงคือบริเวณปลายคานทั้งสองด้านดังนั้นการเสริมเหล็กปลอกในคานจะแบ่งเป็น 2 บริเวณ คือ 1. บริเวณปลายคานวัดออกมาจากเสาสองเท่าของความลึกคานให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกิน หนึ่งในสี่ของความลึกคาน และ 2. บริเวณกลางคานให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกินครึ่งหนึ่งของความลึกคาน เช่น คานลึก 40 ซม.ต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. มีระยะเรียงไม่เกิน 10ซม. (หรือหนึ่งในสี่ของความลึกคาน) ในระยะ 80ซม. จากปลายคานทั้งสองด้าน ส่วนบริเวณตรงกลางใช้เหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6มม. วางเรียงกันไม่เกิน 20 ซม. (หรือครึ่งหนึ่งของความลึกคาน) 2.            แบบเสริมเหล็กเสา บริเวณที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือปลายเสาทั้งด้านบนและด้านล่าง การเสริมเหล็กปลอกในเสาจึงแบ่งเป็น 2บริเวณเช่นกัน คือ 1. บริเวณปลายเสาวัดออกมาเป็นระยะ 50ซม. ให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกิน ครึ่งหนึ่งของขนาดเสา และ 2. บริเวณกลางความสูงเสาให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกินขนาดเสา เช่น เสาหน้าตัด 20×20 ซม.ต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. ในระยะ 50ซม. ที่ปลายบนและล่าง ให้มีระยะเรียงไม่เกิน 10ซม. (หรือครึ่งหนึ่งของขนาดเสา) แต่แนะนำให้ใช้เพียง 7.5ซม. ส่วนบริเวณตรงกลางความสูงเสาให้เสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6มม. วางเรียงกันไม่เกิน 20 ซม. (ขนาดเสา) แต่แนะนำให้ใช้เพียง 15ซม. ซึ่งดีกว่ามาตรฐานในขณะที่เสาตอม่อหรือเสาใต้ถุนบ้านให้เสริมเหล็กปลอกมีระยะเรียงไม่เกิน ครึ่งหนึ่งของขนาดเสาตลอดความสูงของเสา   รองศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศรองเลขาธิการสภาวิศวกร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยโครงการ “ศึกษาวิธีการออกแบบและเสริมกำลังอาคารในประเทศเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว”สกว.  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แบบเสริมเหล็กโครงสร้างบ้านปูนต้านแผ่นดินไหว ตอนที่ 1

Posts related