บทเรียนหนึ่งที่ได้รับจากความเสียหายของโครงสร้างนับ10,000 หลังคาเรือนจากเหตุแผ่นดินไหวเชียงรายคือโครงสร้างบ้านเรือนที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมเป็นสาเหตุหลักให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายเนื่องจาก ชาวบ้านก่อสร้างบ้านกันเองตามความเข้าใจของตัวเองหรือลอกเลียนแบบจากบ้านข้างเคียง เน้นที่ราคาถูกเป็นหลัก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม           หน่วยงานราชการจึงควรจัดหาแบบบ้านมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวเพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นตัวอย่างในการก่อสร้างบ้านให้ปลอดภัย สำหรับบทความในตอนนี้เป็นการเสนอแบบการเสริมเหล็กโครงสร้างบ้านปูนต้านแผ่นดินไหวตอนที่2 ซึ่งจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเสริมเหล็กในข้อต่อคาน-เสาแบบเสริมเหล็กที่ปลายคานตัวนอก และแบบของอเหล็กปลอกต้านแผ่นดินไหว โดยอ้างอิงจากมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง มยผ. 1301-54 ดังนี้   3.  แบบเสริมเหล็กข้อต่อคาน-เสา ข้อต่อคือบริเวณที่คานและเสามาต่อกันมีหน้าที่สำคัญในการยึดชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน หากข้อต่อเสียหายรุนแรงอาจจะทำคานและเสาหลุดแยกออกจากกันแล้วทำให้โครงสร้างถล่มได้ ดังนั้นต้องเสริมเหล็กปลอกในข้อต่อคานเสาเพื่อป้องกันการวิบัติด้วยโดยต้องเสริมเหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม.และมีระยะระหว่างเหล็กปลอกไม่เกินด้านแคบของเสา เช่น เสาขนาด 20 x 20 ซม.ระยะเรียงของเหล็กปลอกในข้อต่อต้องไม่เกิน 20 ซม. (หรือหากใช้เพียงครึ่งหนึ่งหรือ10 ซม. ก็จะดีมาก)   4.  แบบเสริมเหล็กที่ปลายคานตัวนอก คานที่บรรจบกับเสาต้นนอกจะต้องงอฉากที่ปลายเหล็กบนและเหล็กล่างในคาน ให้ฝังเข้าไปในเสา เพื่อให้เกิดการยึดระหว่างคานกับเสาอย่างแข็งแรงหากไม่งอฉากแล้ว คานอาจจะหลุดแยกจากเสาได้ เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหว   5.  แบบของอเหล็กปลอกต้านแผ่นดินไหว เหล็กปลอกคือเหล็กเป็นวงที่พันรอบเหล็กแกนเป็นเหล็กที่มีหน้าที่สำคัญสองประการคือ 1. ป้องกันการการกะเทาะหลุดของคอนกรีต และ2. ป้องกันการคดงอของเหล็กแกน แต่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายพบว่าปริมาณเหล็กปลอกที่เสริมในเสาน้อยเกินไปอีกทั้งวิธีการดัดงอเหล็กปลอกยังไม่แข็งแรงพอจึงเป็นสาเหตุให้เหล็กปลอกง้างหลุดออกมาเป็นจำนวนมาก การเสริมเหล็กปลอกให้แข็งแรงนั้นปลายเหล็กปลอกควรดัดทำมุม 135องศาแล้วฝังเข้าไปในแกนคอนกรีตเพื่อยึดเหล็กปลอกให้ตรึงแน่นอยู่กับแกนเสา หากไม่งอ135 องศาแล้ว เหล็กปลอกจะถูกคอนกรีตดันจนง้างหลุดออกจากเสาได้   รองศาสตราจารย์ดร.อมร พิมานมาศ รองเลขาธิการสภาวิศวกร อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยโครงการ“ศึกษาวิธีการออกแบบและเสริมกำลังอาคารในประเทศเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว” สกว.      

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แบบเสริมเหล็กโครงสร้างบ้านปูนต้านแผ่นดินไหว ตอนที่ 2

Posts related