นายโฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) หลักสูตรความรู้เศรษฐกิจสู่ประชาคมอาเซียน จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้คงไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากเชื่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว (จีดีพี) ไดัที่ 2% เพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา “จีดีพีปีนี้ จะสามารถขยายตัวได้ที่ 2% โดยไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งส่วนตัวมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจควรกระตุ้นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และขณะนี้ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องออกมาตรการใดๆ เพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจไทยได้เงยหัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐเป็นวิธีที่ดีที่สุด” ขณะที่ รายชื่อ ครม. ตามกระแสข่าวที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้น มองว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถเดินหน้า ซึ่งเชื่อว่าเตรียมข้อมูลและขั้นตอนดำเนินงานปฏิรูปประเทศไว้แล้ว แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่นั้น จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบและมีความโปร่งใสมากที่สุด นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการ 3 ระยะ แบ่งเป็น 13 มาตรการ ได้แก่ ระยะสั้น รัฐบาลควรเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้เร็วที่สุด ทั้งงบประมาณประจำและงบประมาณลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนวงเงินในเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานซึ่งช่วยให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น, การดูแลราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ควรที่จะให้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาข้าวแนะนำจะทำให้ราคาข้าวปรับตัวขึ้น รวมทั้ง ดูแลราคาสินค้าและการปรับลดราคาพลังงาน ที่ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ที่สามารถผลักดันให้จีดีพีขยายตัวได้อยู่ในกรอบ 1.5-2% ภายใต้ตัวเลขการส่งออกที่ 1-1.5% ขณะที่ ระยะกลาง คือการประมูลจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ที่คาดว่าจะมีวงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 300,000 ล้านบาท, การจัดหาพลังงานทดแทน เช่น ก๊าซชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ, การกระจายรายได้ให้กับประชาชน, ปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนภายในประเทศ รวมถึง การสนับสนุนการค้าชายแดน เพื่อให้ประเทศในภูมิอาเซียนเกิดการลงทุนตาม และการปฏิรูปการศึกษาอีกด้วย  สำหรับ ระยะยาว รัฐบาลจะต้องสร้างให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งการกำหนดราคาอาหารและพลังงาน ให้มีราคาที่เหมาะสม, สนับสนุนการศึกษา ทั้งภาษาอังกฤษและจีน ให้พร้อมในการทำการค้าและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี), จัดการปัญหาคอร์รัปชั่นให้มีแนวโน้มลดลง เพราะมีผลตอการตัดสินใจลงทุนของต่างประเทศ และส่งเสริมวิทยาศาสตร์และการวิจัยพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยใหัเศรษฐกิจไทย ในปี 58 ขยายตัวอยู่ที่ 5% ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะปัญหาของวิกฤติการเมืองยูเครนกับรัสเซีย และสหรัฐกับรัสเซียที่มีมาตรการคว่ำบาตร ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยติดลบในเดือน ก.ค. ซึ่งคาดว่าภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1-1.5% จากเดิมที่คาดไว้ 3% ส่วนราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับราคาลดลง เช่น ข้าว ยางพารา ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรที่ไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้น รวมทั้ง นักศึกษาจบใหม่จำนวนมาก แต่ยังหางานทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน รายชื่อรัฐมนตรีที่เข้ามาดูแลเศรษฐกิจของประเทศนั้น เชื่อว่าเป็นบุคคลที่พร้อมทำงานได้ทันที และสามารถทำงานด้วยความเข้าใจในเศรษฐกิจ เพราะมีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขเหมือนกัน ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะมาเป็นรองนายกฯ ดูแลด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นบุคคลที่เจ้าใจด้านการเงินและการคลังอย่างดี ส่วนนายสมหมาย ภาษี อดีต รมช.คลัง ที่จะมาดูแลกระทรวงการคลัง ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ที่เข้าใจนโยบายในการพัฒนาประเทศ ที่จะเข้ามาปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการจัดเก็บรายได้ เป็นต้น

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โฆสิตเบรกรัฐใช้มาตรการกระตุ้นศก.

Posts related