เชื่อว่าคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมหลายคนคงคิดเหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นเครื่องมือสื่อสารธรรมดา ๆ สำหรับใช้รับสายโทรฯเข้า-โทรฯออกเพียงอย่างเดียว แต่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นจนหลาย ๆ คนซูฮกให้เป็นปัจจัยที่ 5 ที่ขาดกันแทบจะไม่ได้เลยทีเดียว ทางฝั่งค่ายมือถือต่าง ๆ เองก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ มานำเสนอผู้บริโภคอย่างเรา ยังคงขนเอาลูกเล่นใหม่ ๆ ความสะดวกสบายต่าง ๆ มาล่อตาล่อใจและดึงดูดเงินในกระเป๋าสตางค์ของเราให้ถูกจ่ายออกไปเป็นค่าซื้อมือถือรุ่นใหม่ ๆ กันอยู่เรื่อย ๆ ไม่เฉพาะแต่โทรศัพท์มือถือเท่านั้นนะครับ แต่หากลองสังเกตดูจะเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ พอเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรเสียทีก็เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยการซื้อเครื่องใหม่เลย ทั้ง ๆ ที่ความเสียหายนั้นอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ หนึ่งจุดท่ามกลางจุดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่ยังคงทำงานได้ตามปกติ ในทำนองเดียวกันครับ การต้องซื้อมือถือใหม่ทั้งเครื่องเพียงเพราะต้องการฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเติมเพียงแค่ 1-2 อย่างมันก็ดูไม่คุ้มค่ากันเท่าไหร่นัก จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะปรับแต่งโทรศัพท์มือถือโดยการถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าออกได้ง่าย ๆ เหมือนกับการต่อรูปตัวต่อเลโก้ ทีนี้พอใครอยากอัพเกรดโทรศัพท์มือถือให้มีฟังก์ชั่นครบตามต้องการ ก็เพียงแค่เปลี่ยนเพิ่มเอาส่วนตรงนั้นเข้าไปในเครื่องเก่า แทนที่จะต้องโละเครื่องเก่าทิ้งไป ซื้อใหม่ทั้งหมด ไอเดียโทรศัพท์มือถือตัวต่อนี้เริ่มต้นมาจากนายเดฟ แฮคเก้นส์ (Dave Hakkens) นักประดิษฐ์และดีไซเนอร์ชาวดัตช์ที่เสนอให้โทรศัพท์มือถือสามารถถูกถอดประกอบได้ง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ใช้อย่างเรา ๆ สามารถที่จะปรับแต่งฟีเจอร์ต่าง ๆ ของมือถือได้เองตามความต้องการ โดยไอเดียของโทรศัพท์ตัวต่อนี้มีชื่อเรียกว่า “PhoneBloks” ซึ่งเกิดจากการนำคำว่า Phone ที่แปลว่าโทรศัพท์ มารวมกับคำว่า Bloks ที่หมายถึงบล็อกหรืออุปกรณ์ย่อยที่แยกเป็นส่วน ๆ แต่สามารถถูกนำมาประกอบเข้ากับตัวแกนหลักของโทรศัพท์ได้ ต้นแบบของเจ้า PhoneBloks นี้จะมีส่วนของฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่ถูกแยกออกมาเป็นบล็อกเล็ก ๆ หลากหลายขนาด ตัวอย่างเช่น บล็อกหน้าจอ บล็อกหน่วยความจำ บล็อกแบตเตอรี่ บล็อกกล้องถ่ายรูป ฯลฯ โดยทุกบล็อกจะทำงานร่วมกันบนแผงหลักที่มีสกรูยึดส่วนต่าง ๆ เอาไว้ และเมื่อนำบล็อกทั้งหมดมาต่อรวมเข้าด้วยกันก็จะได้เป็นโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานได้จริงหนึ่งเครื่อง เมื่อไหร่ที่เราอยากจะอัพเดตเจ้าโทรศัพท์นี้ขึ้นมา เราก็แค่เปลี่ยนชิ้นส่วนนั้นออกโดยการถอดเปลี่ยนเข้าออกได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการปรับแต่งหน้าจอโทรศัพท์มือถือให้เป็นแบบธรรมดา แบบทัชสกรีน หรือแบบฟูลเอชดี (Full HD) ความต้องการในการเปลี่ยนแป้นพิมพ์ให้เป็นหน้าตาหรือภาษาแบบที่เราต้องการ ความต้องการในการเพิ่มความจุของแบตเตอรี่ ปรับแต่งไวไฟ บลูทูธ เพิ่มความจำในตัวเครื่อง เปลี่ยนรุ่นกล้อง หูฟัง ลำโพง ล้วนแต่สามารถทำได้เองง่าย ๆ โดยการถอดบล็อกเก่าเฉพาะส่วนนั้น ๆ ออกแล้วแทนที่ด้วยบล็อกใหม่ สิ่งที่เจ๋งที่สุดคือบล็อกต่าง ๆ เหล่านี้ผู้ใช้จะสามารถซื้อแยกได้จากร้านที่เรียกว่า BlokStore ที่มีรูปแบบการซื้อขายเหมือน ๆ กันกับ App Store เลยครับ อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ไอเดียนี้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาครับ ว่าบุคคลทั่วไปมีความสนใจและความต้องการในโทรศัพท์ตัวต่อนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากผลการศึกษาออกมาว่าผู้คนสนใจกันมากเพียงพอ ก็คาดว่าการผลิตเพื่อนำออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการน่าจะแล้วเสร็จวางขายได้ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2015 นี้ครับ สำหรับตอนนี้คงจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าโทรศัพท์เลโก้นี้จะเจริญรอยตามสมาร์ทโฟนและได้กลายเป็นหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมวงการโทรศัพท์มือถือได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีอีกหลายตัวแปรที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านราคาว่าจะเหมาะสมกับผู้ใช้ทุกระดับหรือไม่ ด้านความเสถียรของตัวเครื่องที่แม้ชิ้นส่วนจะถูกถอดเข้าถอดออกยังไงก็ยังต้องสามารถทำงานได้ ด้านความเป็นมิตรกับผู้ใช้ รวมถึงด้านความคุ้มค่าของเหล่าผู้ผลิตเองด้วย แต่อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าไอเดียนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของมนุษย์เรานะครับ ที่ไม่มีเลยแม้ในหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ที่จะหยุดสรรค์สร้างไอเดียใหม่ ๆ ออกมาหล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนสังคม ไอเดียที่ช่วยเนรมิตให้โลกนี้สะดวกสบาย ไอเดียที่ช่วยให้พวกเราพร้อมต่อการก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางที่ไม่รู้ตอนจบของอนาคตที่ทอดยาวรออยู่ข้างหน้านี้ได้ครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โทรศัพท์เลโก้ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related