ในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 58 วงการธุรกิจแผ่นฟิล์มถือเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ถูกเปิดกว้างให้แข่งขันกันอย่างเสรี ซึ่งน่าสนใจว่า อนาคตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จะได้รับผลดี หรือเสีย และเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปอย่างไร หลังปี 58 ดร.อรดล แก้วประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสของหนังไทยหรือภาพยนตร์ไทยภายใต้เออีซี ในรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่า ปัจจุบันวงการภาพยนตร์ไทย มีการพัฒนาจากช่วง 10 กว่าปีก่อนมาก ทั้งตัวบทหนัง โปรดักชั่น รวมถึงธุรกิจโรงภาพยนตร์ ซึ่งหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จได้โกอินเตอร์ไปต่างประเทศ แต่หากถามว่าภาพยนตร์ไทยอยู่ในระดับใดในอาเซียน ต้องบอกว่ามีหลายส่วน เพราะถ้าเป็นเฉพาะตัวภาพยนตร์ ไทย…ยังอยู่ที่ 3 ตามหลังฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากภาพยนตร์ไทยมีข้อจำกัดด้านภาษา การสื่อสารทางวัฒนธรรม ทำให้มีตลาดจำกัดแค่คนไทย 60 ล้านคน แตกต่างกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่บทส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษทำให้สื่อสารไปต่างประเทศได้ง่าย แต่หากพูดในแง่การผลิต โปรดักชั่น หรือโรงภาพยนตร์ ของไทยถือว่าก้าวหน้าไปมาก สู้ได้ไม่เป็นสองรองใครในอาเซียน อย่างไรก็ตาม หลังเปิดเสรีอาเซียน การแข่งขันในธุรกิจภาพยนตร์คงมีมากขึ้น ทั้งตลาดในอาเซียน หรือภาพยนตร์จากอาเซียนที่ออกไปขายในต่างแดน โดยไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพราะแม้มีจุดเด่นจากบทที่หลากหลาย ทั้งภาพยนตร์รัก ผี หรือ ตลก และมีดาราโด่งดังแฟนคลับทั่วอาเซียน แต่ยังมีจุดอ่อนเรื่องภาษา และความสดใหม่ ที่เป็นรองประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว ที่ทำให้น่าสนใจมากกว่า ดังนั้นคนทำภาพยนตร์ไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ เช่น การหันมาทำหนังร่วมทุนกับชาติในอาเซียนเพิ่มขึ้น เช่น เรื่อง “สบายดีหลวงพระบาง” ที่ใช้พระเอกคนไทย นางเอกคนลาว ซึ่งทำให้ขายได้ 2 ประเทศ และในอนาคตหากร่วมมือกัน 3-4 ชาติ จับมือกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยิ่งทำให้น่าสนใจและเปิดตลาดได้กว้างขึ้น นอกจากนี้ควรปรับบทให้มี 2 ภาษาเพื่อให้ง่ายต่อการทำตลาด รวมถึงควรใส่มุมมองในแง่ของธุรกิจเข้าไปผสมด้วย เพราะภาพยนตร์เป็นศิลปะที่ใช้ทุนสูง จะมองแค่ศิลปะอย่างเดียวคงไม่ได้ ตลอดจนควรหาช่องทางสร้างรายได้อื่น นอกจากขายตั๋ว เพราะระยะหลังรายได้จากส่วนนี้มีแต่ลดลงเรื่อย ๆ ส่วนในแง่การรวมตัวกับเอกชนของคนทำภาพยนตร์ในไทย ในนามสมาคม หรือสมาพันธ์ถือว่ามีความแข็งแกร่ง แต่ยังขาดเงินทุน และโอกาสการสนับสนุนไปโชว์ยังต่างแดนอยู่ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือภาพยนตร์คุณภาพ ที่ยังมีโอกาสไปขายต่างแดนได้น้อย ทั้งที่ภาพยนตร์ไทยมีคุณภาพดีหลายเรื่อง เรื่องนี้…ถือว่าสำคัญที่ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเพื่อให้ขับเคลื่อนมากกว่าเพียงแค่ให้เงินสนับสนุนอย่างเดียว เช่น การนำภาพยนตร์ไทยทุกประเภทไปประชาสัมพันธ์ ไปเปิดตลาด ตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในประเทศต่าง ๆ โดยไม่เลือกเฉพาะค่ายใหญ่ หรือการหาช่องทางฉายภาพยนตร์ให้มากขึ้น เพราะปัญหาใหญ่ในเวลานี้คือ…พอคนสร้างภาพยนตร์เสร็จกลับไม่มีเวทีให้ฉาย เนื่องจากระบบโรงภาพยนตร์ในไทย เหลือรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้ภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก หรือประเภทอาร์ตไม่มีเวทีให้แสดง ขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมการหารายได้อื่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น การใช้สถานที่ในไทยเป็นฉากถ่ายทำ รวมถึงธุรกิจโปรดักชั่นต่าง ๆ เพราะคนไทยมีศักยภาพมากแต่ยังขาดการสนับสนุน โดยเฉพาะการแก้ปัญหา ขออนุญาตถ่ายทำ ต้องผ่านหลายหน่วยงานมาก ทำให้ไม่สะดวก ผิดจากต่างประเทศที่รัฐอำนวยความสะดวกให้เต็มที่ เพราะข้อดีนอกจากจะช่วยโปรโมตประเทศ และนำเงินเข้ามาใช้จ่ายในไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายคนทำภาพยนตร์ และถ่ายทอดความรู้ใหม่ช่วยพัฒนาภาพยนตร์ไทยไปในตัวด้วย ธุรกิจภาพยนตร์ในวันนี้…ถือว่ามีความสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่การขายภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการเผยแพร่วัฒนธรรม ทำให้เกิดการยอมรับประเพณี ภาษา สินค้า การท่องเที่ยว เหมือนกับที่ประสบความสำเร็จในเกาหลี ภาครัฐจึงนิ่งเฉยไม่ได้และควรเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่!

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โอกาสภาพยนตร์ไทยในเออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related