การเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกล ถ้าไม่มีผู้ที่สนับสนุนและผลักดันที่แท้จริง  กลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมไทยสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีตลอดมา ผ่านโครงการ 3 จี เพื่อโรงเรียนและชุมชน ขณะที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอเพื่อมุ่งสู่อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เรียกกันว่า 24 DHS เพื่อพัฒนาศักยภาพของทีมผู้บริหาร ทีมบริการสาธารณสุข ภาคประชาชน และภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความสามารถบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งของการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มทรู เล่าว่า ด้วยนโยบายขององค์กรที่ต้องการให้ประชาชนในประเทศไทยได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้ประโยชน์จากโครงข่ายและศักยภาพของกลุ่มทรูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผ่านเครือข่าย 3 จี ของทรูมูฟเอช ทั้งนี้ 24 DHS ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทรูสนับสนุนแอร์การ์ด พร้อมซิม 3 จี โดยใช้งานดาต้าไม่จำกัด บนคลื่น 850 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างดำเนินงาน นอกจากนี้ ทรู ยังสนับสนุนโซลูชั่นในการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพประกอบด้วย เซิร์ฟเวอร์สำหรับเก็บฐานข้อมูลของ 24 อำเภอ และแท็บเล็ตในการเก็บข้อมูลจำนวน 240 ชุด ให้ใช้งานอย่างเรียลไทม์ทั้ง 24 อำเภอ และความร่วมมือของนักเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญาในพื้นที่ 24 อำเภอ กว่า 111 โรงเรียน เข้าร่วมเป็นจิตอาสาในการเก็บข้อมูล ซึ่งเด็กนักเรียนจะรับรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ดี “ถือเป็นการสานต่อความตั้งใจนำเทคโนโลยีมาช่วยในโครงการ เพราะบางพื้นที่ห่างไกลไม่มีแพทย์ประจำ แต่มีชาวบ้านจำนวนมาก มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น เมื่อเราสามารถสื่อสารแบบเห็นหน้าติดต่อกับหมอโดยตรง จะทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทางของชาวบ้านด้วย” ดร.กันทิมา เล่าว่า เรามีแอพพลิเคชั่นวัดหัวใจคนไข้ไว้บนรถพยาบาล สามารถส่งคลื่นหัวใจได้ทันที เพราะด้วยการที่มีเทคโนโลยี ทำให้สามารถส่งข้อมูลและอัพเดทข้อมูลในชุมชนต่าง ๆ ทันที สามารถวิเคราะห์ความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ได้ ผศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้จัดการโครงการ 24 DHS เล่าว่า ต้องการให้ได้ข้อมูลที่รู้จริงในพื้นที่ทั้งภาควิชาการและทฤษฏี เพราะจะมีผลต่อการปฏิบัติงานจริง จึงได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สสส.เพื่อบริหารจัดการปัญหาสำคัญของข้อมูลสุขภาพในอดีตจากตำบลไปสู่อำเภอ เขต จังหวัด การเก็บข้อมูลด้วยกระดาษ ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังนั้น แนวคิดการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาจัดเก็บข้อมูลถือว่าสำคัญ ซึ่งทางกลุ่มทรูได้สนับสนุนอุปกรณ์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการจัดเก็บข้อมูล อีกทั้งยังได้เด็กนักเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญามาเป็นอาสาสมัครช่วยเก็บข้อมูลด้วย เมื่อได้ข้อมูลการวางแผนร่วมกันเกิดข้อมูลที่เป็นจริงสามารถสร้างแผนปฏิบัติงานร่วมกันในทุกพื้นที่ เราจะเห็นข้อมูลภาพรวมประชากรสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่มองเห็นถึงปัญหาช่วยเหลือตรงจุดที่สุด สำหรับลักษณะข้อมูลที่ใช้ อาทิ ที่เป็นตารางหลายรูปแบบ แยกตามตำบล และสามารถเปรียบเทียบ ข้ามตำบล ข้ามอำเภอได้ เจอข้อมูลแต่ละตำบลได้อย่างละเอียด สามารถกำหนดคำถามแต่ละพื้นที่ได้ โดยคำถามแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่นั้นด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับ กูเกิล แม็พ เมื่อคลิกเข้าไปยังบ้านเลขที่ไหน ก็จะทราบและเห็นถึงข้อมูลลักษณะของบ้านที่ชัดเจนว่าบ้านหลังนี้มีประชากรอยู่กี่คน มีโรคประจำตัวหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องภาคเหนือตอนล่าง 10 จังหวัด 24 อำเภอ เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 2 และ3 (พิษณุโลก-นครสวรรค์) ตั้งเป้า 3 ปี จะเห็นผล 100% โดยจะประเมินผลทุก 6 เดือน เน้นความร่วมมือและการมีส่วนร่วมและการบริหารของชุมชนว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่อย่างไร เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน มีการเก็บข้อมูลที่ตรงจุด ทำให้ทราบปัญหาที่แท้จริง เชื่อว่าการผลักดัน “เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอที่เข้มแข็ง” น่าจะเห็นผลในไม่ช้า.  กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ใช้เครือข่ายทรูมูฟ 3จี เก็บข้อมูลสุขภาพโครงการ ‘24DHS’

Posts related