ผศ.ดร.ถวิดา มณีวรรณ์รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในผู้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี  กล่าวว่าโครงการวิจัยหุ่นยนต์พ่นยาบนต้นมะพร้าวราคาประหยัดซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี เป็นการต่อยอดจากอุปกรณ์พ่นยาบนต้นมะพร้าวโดยใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนแทนการชักด้วยมือ เป็นอุปกรณ์การทำการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเองในมหาวิทยาลัยทำให้มีราคาถูก เพื่อช่วยชาวสวนมะพร้าวที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนามแมลงศัตรูพืชกัดกินยอดมะพร้าว ที่เรียกว่าโรคมะพร้าวหัวหงอกสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชาวสวนมะพร้าวโดยเฉพาะมะพร้าวกะทิส่วนใหญ่ปลูกมากในแถบพื้นที่ภาคใต้และกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมาจนถึงนครปฐม  “หุ่นยนต์ได้ติดตั้งชุดไต่และชุดพ่นยาเพื่อช่วยทำงานในที่สูง โดยผู้ใช้สามารถยืนห่างออกจากต้นในระยะที่เหมาะสมได้ นำหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาออกแบบเพื่อแก้ปัญหาการยึดเกาะบนพื้นผิวต้นมะพร้าวและยังเป็นการร่วมกันของศาสตร์หลายแขนงประกอบด้วย เครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และเป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการทางหุ่นยนต์ในการวิเคราะห์เรื่องการฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในการแก้ปัญหาทางการเกษตรมาก่อนจึงเป็นโอกาสดีที่ได้ศึกษาวิจัยในมุมของคนพัฒนาหุ่นยนต์ ”   เป้าหมายคือ ลดปริมาณสารเคมีและสามารถประหยัดการใช้ลงได้ถึง80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังลดการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีที่นำมาใช้คือการพัฒนาอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ให้ไต่ขึ้นไปฉีดพ่นเฉพาะจุดคือบริเวณใต้พุ่มใบ  ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกมะพร้าวในอันดับต้นๆของโลก ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและโรงเรียนฝึกสอนลิงเก็บมะพร้าวก็ไม่มีผู้สืบทอดทำให้ทักษะการเก็บมะพร้าวกำลังค่อยๆ หายไป รวมถึงทักษะในการดูแลรักษา เช่นการตัดทางใบเพื่อป้องกันโรคระบาดก็ยังขาดอุปกรณ์ที่จะใช้  งานวิจัยชิ้นนี้จึงถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกคาดว่า หลังจากได้รับทุนสนับสนุนฯ มั่นใจว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้จริงภายในปี 2558   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ให้ทุนพัฒนาหุ่นยนต์พ่นยาต้นมะพร้าว

Posts related