ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสในการเข้าดูงานที่องค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น JAXA โดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11-15 พ.ค.57 ที่ผ่านมา บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกองทัพอากาศ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พาสื่อมวลชนและทีมที่ชนะการแข่งขัน “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” ได้แก่ทีม พีบีอาร์ยู แอเรียล มิชชั่น ทีม (PBRU AERIAL MISSION TEAM) จาก “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี” ไปดูงานที่องค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น JAXA บนพื้นที่ 5.3 แสนตารางเมตร เทียบเท่าสนามฟุตบอล 12 สนาม มีพนักงาน 2,000 คน รศ.ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขัน และหัวหน้าวิจัยสาขา Dynamics and Robotics แห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมคำนวณและทดสอบขั้นสูง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นตัวแทนสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ในการได้เข้าไปทัศนศึกษาดูงานที่ JAXA ถือเป็นการพัฒนาเยาวชนต่อยอดจากการแข่งขันของทีมชนะเลิศภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน ซึ่งการดูงานครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอากาศยานให้กับเยาวชนไทย เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับเยาวชนให้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นถึงความเป็นระเบียบ ความมีวินัยของคนญี่ปุ่นส่งผลให้ประเทศเจริญก้าวหน้า และยังเป็นการต่อยอดของการพัฒนาแนวความคิดของการพัฒนาหุ่นยนต์ด้านการบินและอวกาศให้กับเยาวชนไทยด้วย อีกทั้งยังทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันว่ามีต้นแบบมาจากเทคโนโลยีอวกาศ ตัวอย่างเช่น ตีนตุ๊กแกที่ใช้ติดเสื้อผ้า หรือรองเท้าที่ได้มีการพัฒนามาจากการติดตั้งแผ่นฉนวนกันความร้อนของดาวเทียม เพื่อที่จะสามารถทำให้ถอดประกอบได้ง่าย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีอากาศยานที่ใช้ในการขับเคลื่อนจรวด (rocket) เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นไปบนอวกาศ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนานำมาประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนในเครื่องบินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้ การได้เข้าเยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศ JAXA ถือเป็นความประทับใจที่สุด เพราะได้มีโอกาสเข้าไปดูถึงห้องควบคุมการบิน KIBO Flight Control Room ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติ International Space Station (ISS)และยังเป็นวันสุดท้ายที่นักบินอวกาศของญี่ปุ่น คือ Mr. Koichi Wakata อายุ 50 ปี ทำงานอยู่บน ISS เป็นเวลานานที่สุดถึง 188 วัน นับได้ว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจที่เป็นระยะเวลายาวนานที่สุดของนักบินอวกาศญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักบินอวกาศคือ Mr.Satoshi Furukawa ทำไว้เพียง 167 วัน ซึ่งภารกิจของ Mr.Koichi Wakata ได้ทำการถ่ายทำ Comet ISON ด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูงถึง 4K “นอกจากนี้ ในวันที่ 14 พ.ค. คณะได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ National Museum of Emerging Science (Miraikan) ถือเป็นความโชคดีที่ได้เห็น Mr.Koichi Wakata จากการถ่ายทอดสดในขณะที่เดินทางกลับมาที่พื้นโลกด้วยยานอวกาศของรัสเซีย Russian Soyuz spacecraft ลงจอดที่เมือง ZHEZKAZGAN คาซัคสถาน บนทะเลทราย ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของคนญี่ปุ่น” รศ.ดร.ภูดิส กล่าว ด้านนายวชิรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ หรือ น้องไอซ์ หัวหน้ากลุ่มนักพัฒนาหุ่นยนต์บิน พีบีอาร์ยู แอเรียล มิชชั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เล่าว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีเพราะไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสอย่างนี้อีกหรือเปล่า ภูมิใจที่ผู้สนับสนุนให้ความสำคัญ ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสนายวชิรวัฒน์ เล่าว่า ได้เห็นแนวคิดและระบบการทำงาน การบริหารจัดการกับนวัตกรรมและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ถึงจะไม่ได้ช่วยในเรื่องของการเรียน แต่ถือเป็นอีกหนึ่งความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ “ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความเป็นระเบียบ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีคุณภาพเราจะเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งจุดนี้ ประเทศไทยน่าจะนำมาเป็นแบบอย่างทั้งอุปนิสัยและการใช้ชีวิตโดยเฉพาะความเป็นระเบียบวินัย” นายวชิรวัฒน์ กล่าว ทั้งนี้ อยากจะฝากถึงน้อง ๆ นักศึกษา ที่มีใจรักในเรื่องของการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยากให้เรียนรู้ด้วยตนเองและค้นพบตนเองโดยเร็วที่สุดว่าตนเองชอบอะไร และพยายามศึกษาด้วยตนเองตลอดเวลา เพราะปัจจุบันโลกเราก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อยากให้ทุ่มเทอย่างจริงจัง แล้วจะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งไว้ JAXA มีหลากหลายภารกิจที่ล้วนแล้วแต่เป็นหัวใจหลักในการสนับสนุนโครงการที่ร่วมมือกับหลากหลายประเทศ ตั้งแต่การยิงจรวด การพัฒนาเกี่ยวกับสถานีอวกาศและติดตามดาวเทียม และฝึกนักบินอวกาศ เป็นต้น. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไม่ได้เข้าไปดูกันง่ายๆ ซีเกทพาเด็กไทยไป JAXA

Posts related