“ขณะนี้ประเทศอื่น ๆ กำลังประสบปัญหาเรื่องอากาศที่เย็นเกินไป จึงถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่ควรจะรีบคว้าเอาไว้ เพราะอย่างจีนช่วงนี้ทั้งดอกไม้และผลไม้เจออากาศหนาวเย็นจนไม่มีผลผลิต” คุณเจตน์ มีญาณเยี่ยม นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย และผู้บริหารสวนกล้วยไม้ไทย ณ จังหวัดราชบุรี บอกระหว่างงานสัมมนาสัญจรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้ แม้ว่ากล้วยไม้ของไทยจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศได้ง่าย ๆ เพราะพืชอย่างกล้วยไม้เป็นพืชที่สวยงามจึงต้องมีความพิถีพิถันในการเลี้ยง ต้องมีใจรัก และดอกกล้วยไม้ยังมีความอ่อนไหวต่อการดูแลของเจ้าของ เจ้าของจะต้องให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งข้อจำกัดอันละเอียดอ่อนนี้ประกอบกับสภาพอากาศที่ดูจะเอื้อกว่าอย่างเมืองไทย จึงทำให้ประเทศอื่นจะก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งได้ไม่ง่ายนัก “ที่ผ่านมาเคยมีคนเวียดนามเข้ามาขอดูงาน เพราะเค้าสนใจในเรื่องของดอกไม้มาก แต่หากจะพัฒนาให้เท่าไทยก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง บ้านเราจึงต้องตื่นตัวเพราะจะอาศัยแค่ภูมิปัญญาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จะต้องอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจด้วย แต่เงินทุนก็ยังเป็นปัญหาสำหรับผู้ประกอบการ” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หนึ่งในผู้นำด้านการส่งออกไม้ตัดดอกอย่างสวนกล้วยไม้ไทย คิดที่จะพัฒนาไปถึงระดับการสร้างกรีนเฮ้าส์ที่มีระบบควบคุมเรื่องน้ำและอาหารของต้นอย่างครบวงจร ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาเรื่องโรคเชื้อราและเพลี้ยไฟซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสวนกล้วยไม้ เพราะการใช้ยาเพื่อแก้ปัญหานั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เมื่อโรคและแมลงมีการพัฒนาเพื่อสู้กับยาที่ชาวสวนใช้ด้วยเช่นกัน รศ.จิตราพรรณ เทียมปโยธร ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า แม้วันนี้กล้วยไม้ไทยจะพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดสีสันใหม่ ๆ หรือมีเทคนิคการปั่นตาเพื่อเพิ่มผลผลิตของจำนวนต้นได้อย่างรวดเร็ว แต่เรื่องโรคอย่างเชื้อราและเพลี้ยไฟก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะยาที่นำมาใช้บางชนิดอาจใช้ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจเกิดอาการดื้อยา และยาแต่ละชนิดแต่ละยี่ห้อก็มีเทคนิคการใช้งานและผลที่ได้รับแตกต่างกันด้วย “ไทยมีศักยภาพในการผลิตกล้วยไม้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น เหมาะสมต่อการให้ผลผลิต และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเรายังมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยกว่า และมีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่นอกจากขายไม้ตัดดอกแล้ว ขณะนี้ตลาดใหม่ของ  ไทยก็คือจีนที่นำต้นไปเป็นส่วนผสมของยา ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของอุตสาหกรรมกล้วยไม้ไทยด้วย”  ตลาดหลักของกล้วยไม้อันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ตามมาด้วยสหรัฐ อเมริกาและยุโรป โดยมีกล้วยไม้สกุลหวายเป็นตัวเอก และสียอดฮิตก็หนีไม่พ้นแดง ขาว ชมพู จะมีแซมเขียวมาบ้างสำหรับญี่ปุ่นที่ต้องการความแตกต่าง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมายอดการส่งออกกล้วยไม้ของไทยลดลงราวร้อยละ 3 ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญ “ปีนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากับยุโรปน่าจะดีขึ้น ส่วนญี่ปุ่นถ้าอากาศหนาวยังลากต่อไปอีกยาวก็จะเป็นโอกาสของไทย เพราะถ้าอากาศหนาวดอกไม้ก็จะไม่ออกดอกเช่นกัน จึงต้องอาศัยใช้ดอกไม้นำเข้าแทน ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 2,300 ล้านหรืออาจจะมากกว่านั้น”  นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย ระบุ ขณะที่ คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า การจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรได้นั้น เกษตรกรเองต้องมีการปรับตัว เพราะการแข่งขันไม่ใช่เชิงราคาอีกต่อไปแต่ต้องเน้น   ที่คุณภาพของสินค้าเป็นหลัก การจะก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเมื่อเปิดเออีซีในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า จะต้องเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัว เพิ่มผลผลิต และมาตรฐานของตนเอง เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการจัดงานสัมมนาสัญจรในวันนี้ก็เป็นเวทีหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงอยากเชิญให้ไปร่วมงาน Horti Asia 2014 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ระหว่างวันที่  8-10 พฤษภาคมนี้ เพื่อชมความก้าวหน้าของนวัตกรรมการเกษตรแล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-8670-0900 ต่อ 107 หรืออีเมล hortiasia@vnuexhibitionsap.com หรือ www.facebook.com/Horti.ASIA.Page.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘กล้วยไม้ไทย’ ผู้นำไม้ตัดดอก

Posts related