ความหมายของดรักสโตร์หรือร้านขายยาของไทย อาจหมายถึงแค่ร้านที่ขายเฉพาะยาเป็นหลักโดยมีเภสัชกรทำหน้าที่ให้คำแนะนำตามที่กฎหมายกำหนด แต่ดรักสโตร์ในรูปแบบของญี่ปุ่นที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมเมืองนั้นแทบจะเป็นทุกอย่างสำหรับการใช้ชีวิต เป็นอีกปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตที่ขาดไม่ได้ “ดรักสโตร์ของคนญี่ปุ่นจะเป็น วัน สต๊อป ชอปปิง คือมาที่นี่จะมีทุกอย่างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในบ้าน รวมทั้งการให้บริการทางด้านการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของบ้านด้วย หากต้องการจะหาช่างไปซ่อมไฟฟ้า หรือประปาก็สามารถมาที่ซูรูฮะได้เช่นกัน” เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด บอกเล่า ร้านสะดวกซื้อที่มีทุกอย่างให้เลือกหาแบบครบถ้วนที่ว่า กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนไทย และซูรูฮะก็เลือกไทยเป็นประเทศแรกที่จะขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศ โดยมีเครือสหพัฒน์อยู่ในฐานะผู้ร่วมทุนในประเทศไทย ด้วยกลุ่มเป้าหมายในระยะเริ่มต้นที่แตกต่างกัน ซูรูฮะในไทยจึงเลือกที่จะเกาะแนวรถไฟฟ้าก่อนด้วยพื้นที่ไม่ใหญ่นัก ขณะที่ซูรูฮะในญี่ปุ่นพื้นที่จะอยู่ที่อย่างน้อย 1,000 ตารางเมตร และอยู่ในแหล่งชุมชนย่านที่อยู่อาศัยเป็นหลัก “ซูรูฮะในไทยนั้นเราจะดึงมาบางส่วน ส่วนใหญ่พื้นที่จะประมาณ 200 ตารางเมตร จะมีที่ขนาดใหญ่ที่สุดเพียงที่เดียวคือที่เจ-พาร์ค ศรีราชา ซึ่งมีขนาดเดียวกับมาตรฐานของญี่ปุ่น แต่แม้จะมีขนาดเล็กแต่เรื่องความหลากหลายของสินค้าก็ยังคงเดิม” นอกจากจะมีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นแล้ว สินค้าจากไทยในเครือของสหพัฒน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของร้าน แต่ที่ไม่เหมือนกับดรักสโตร์อื่นที่มาเปิดในเมืองไทยก็คือ การจัดวางสินค้าที่จะใช้รูปแบบการจัดสินค้าชนิดเดียวกันไว้ด้วยกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกตามแบรนด์ เช่นในแผนกเครื่องสำอางซึ่งเห็นได้ชัดที่สุด หากต้องการจะซื้ออายไลเนอร์สักอัน เพียงแค่ไปตรงชั้นของอายไลเนอร์ ลูกค้าจะสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพของแต่ละยี่ห้อได้ทันที ที่สำคัญมีสินค้าตัวอย่างให้ทดลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อ ขณะที่พนักงานขายนั้นจะไม่มาเดินตามลูกค้าจนทำให้อึดอัด แต่จะรอพร้อมที่จะให้คำตอบเมื่อลูกค้าต้องการคำอธิบาย โดยพนักงานทุกคนจะผ่านการอบรมในสไตล์เดียวกับร้านซูรูฮะที่ญี่ปุ่น แต่ที่โดดเด่นและแตกต่างที่สุดน่าจะเป็นความตั้งใจของพนักงานที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าแต่ละชนิดกับลูกค้าผ่านป้ายที่จะติดอยู่ตามชั้นสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อความคุณสมบัติสั้น ๆ แบบเข้าใจง่าย “เราเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกและตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าอย่างเต็มที่ ซึ่งสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นนั้นเมื่อเทียบราคากันแล้วต่างกับที่ต้องบินไปซื้อถึงญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการจัดโปรโมชั่นสับเปลี่ยนหมุนเวียนในสินค้าแต่ละประเภทอยู่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจัดชั้นวางสินค้าแนะนำไว้โดยเฉพาะในโซนเครื่องสำอาง ส่วนชั้นตรงทางเดินขึ้นลงบันไดก็เป็นอีกจุดที่แตกต่างและเรียกความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดีเช่นกัน” ปัจจุบันซูรูฮะ มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ สาขาในกรุงเทพฯ 4 สาขา คือ ที่สาขาเกตเวย์ เอกมัย สาขาซีคอนสแควร์-ศรีนครินทร์ สาขาซีคอน-บางแค สาขาอาคารมิดทาวน์-อโศก ส่วนในต่างจังหวัดมีที่นิคมสหพัฒน์ศรีราชา เจ-พาร์ค ศรีราชา ซึ่งถือเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และคอมมูนิตี้มอลล์พรอมเมนาดา เชียงใหม่ โดยตั้งเป้าหมายขยายสาขาใหม่อีก 20 แห่งในปีนี้ และจะขยายให้ได้ 100 สาขาภายในระยะเวลา 5 ปี แต่นอกจากจะเข้ามารุกธุรกิจร้านค้าปลีกในประเทศไทยแล้ว ซูรูฮะยังมีแผนที่จะขยายไปยังตลาดอาเซียนด้วย โดยจะใช้ไทยเป็นฐานในการขยายสาขาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมีมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามอยู่ในอันดับต้น ๆ. กว่าจะเป็น ‘ซูรูฮะ ซุปเปอร์ ดรักสโตร์’ ซูรูฮะเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1929 จากร้านค้าเล็ก ๆ พื้นที่แค่ 29.7ตารางเมตร โดยยังคงยึดมั่นที่จะสร้างร้านสะดวกซื้อที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดกับลูกค้าในท้องที่ โดยยึดกับสโลแกนหลักของซูรูฮะ “ลูกค้าสำคัญที่สุด การบริการด้วยใจคือสิ่งสำคัญ ความเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญ” เป็นบริษัทดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่นที่มีสาขากว่า 1,000 สาขาในประเทศญี่ปุ่นจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ซ่งึเป็นหมวดสินค้าที่จำเป็นต้องให้ข้อมูลสินค้าแก่ลูกค้าได้อย่างชัดเจน เน้นความใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับลูกค้าที่มาใช้บริการเสมอเพื่อที่จะสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความงามและสุขภาพได้อย่างเหมาะสมที่สุดกับผู้บริโภค จนได้ขึ้นชื่อว่า “ซูรูฮะบริการจากใจเป็นที่หนึ่ง”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ซูรูฮะ’ ยึดไทยเป็นฐานขยายสู่อาเซียน

Posts related