แม้วงการสตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่ด้านเทคโนโลยีของไทยจะตื่นตัวอย่างมากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาเนื่องจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น แต่การจะประสบความสำเร็จบนถนนสายนี้มีไอเดียดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยเรื่องเงินทุนตั้งต้น การวางแผนธุรกิจ การทำตลาด เพื่อให้เกิดรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจจะเดินไปได้อย่างยั่งยืน การได้รับการบ่มเพาะในเรื่องเทคโนโลยีพร้อมกับเรื่องการทำธุรกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลายเวทีให้ความสำคัญ ซึ่ง “โครงการทรู อินคิวบ์” ที่เป็นโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยด้านเทคโนโลยีของกลุ่มทรู ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการคัดเลือกทีมสตาร์ตอัพที่มีแววและผลงานโดดเด่นไปเรียนรู้การทำงานและนำเสนอแผนธุรกิจกับ 500 Startups โปรแกรมสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพชั้นนำของโลกที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง “โครงการทรู อินคิวบ์” รุ่น 2  ก็ได้ประกาศผล 5 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว โดยหวังให้เดินรอยตามรุ่นพี่ในโครงการรุ่นที่ 1 ซึ่งแต่ละทีมได้พัฒนาผลงานออกสู่ตลาดดำเนินธุรกิจจนมีรายได้กลับเข้ามาแล้ว นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้อำนวยการบริหาร ทรู อินคิวบ์  กล่าวว่า กลุ่มทรูต้องการเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพคนไทยที่มีไอเดียสร้างสรรค์ ได้สร้างธุรกิจให้เป็นจริง เพื่อยกระดับระบบนิเวศ (Ecosystem) ของกลุ่มผู้ประกอบการไทยให้ดียิ่ง สร้างสังคมและเศรษฐกิจของไทยให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยที่กลุ่มทรูไม่ได้คาดหวังในเรื่องจะต้องสร้างรายได้กลับเข้ามาเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งในรุ่นที่ 2 มีกลุ่มคนในวงการสตาร์ตอัพ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สมัครเข้าร่วมโปรแกรมกว่า 100 ทีม และมีการนำเสนอแผนธุรกิจหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็น อีคอมเมิร์ซ โซเชียล เน็ตเวิร์ก การศึกษา การเงินและบัญชี ฯลฯ โดย 5 ทีมสุดท้ายประกอบด้วย 1.ทีม Course Square ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิ่ง สำหรับองค์กร เพื่อใช้อบรมติดตามผลและการวัดผลของพนักงานในองค์กร คิดค้นโดยกลุ่มนักศึกษาและอดีตอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล   2.ทีม Hankster แอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับการแฮงก์เอาต์หรือจับคู่และหา เพื่อนใหม่เป็นกลุ่มครั้งละ 3 คน ผลงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี 3.ทีม Puun โซลูชั่นสำหรับสำนักงานบัญชีและธุรกิจที่ช่วยแปลงข้อมูลตัวเลขที่เข้าใจยากให้เป็นกราฟิก ผลงานของนักบัญชีที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง   และ 4.ทีม Hola แอพพลิเคชั่นแชตที่พัฒนาบนระบบแผนที่ผู้ใช้สามารถสร้างอวตารเป็นตัวแทนในโลกเสมือนจริงได้ ผลงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และ 5.ทีม Vetside โซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับสัตวแพทย์เพื่อใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนความรู้ในการรักษาสัตว์ต่าง ๆ มีเป้าหมายให้ เป็นแหล่งรวมความรู้เรื่องสัตว์ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย พัฒนาโดยสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   “สตาร์ต อัพรุ่น 1 ที่ผ่านมา ถือว่ามีคุณภาพใช้ได้มีทั้งเก่งมากและที่ต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิดแต่สุดท้ายก็พัฒนาผลงานออกสู่ตลาดได้ สำหรับรุ่น 2 ได้ใช้เกณฑ์พิจารณาจากคุณภาพของทีม ไอเดีย มูลค่าเพิ่มที่ทรูจะสามารถเข้าไปเพิ่มเติมให้ได้โดยวางแผนเข้าไปช่วยดูด้านธุรกิจตั้งแต่แรกเลยให้สามารถตั้งต้นได้เร็วเพื่อจะได้มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดไทยและต่างประเทศได้เร็ว” นายอมัจจ์ สุวรรณรัตน์ ตัวแทนจากทีม  Hankster กล่าวว่า ผลงานของทีมเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้พบปะและสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ ๆ เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน โดยมีแนวคิดมาจากปัจจุบันจำนวนคนโสดเพิ่มมากขึ้นเนื่องด้วยภารกิจการงาน หรืออาจเป็นคนขี้อาย การจะเริ่มติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามอาจจะเป็นเรื่องยาก การไปใช้บริการเว็บไซต์หาคู่ก็มีราคาแพง การจะออกเดทกับคนที่เจอพูดคุยออนไลน์ ก็เสี่ยงเรื่องความปลอดภัย  จึงคิดแอพนี้เพื่อเป็นตัวกลางและคัดกรองคนในการจัดแฮงก์เอาต์ให้กับผู้สนใจและเพื่อนเป็นกลุ่มละ 3 คน พร้อมติดต่อสถานที่ที่ร้านอาหารต่าง ๆ ให้พบปะพูดคุย โดยคิดค่าบริการคนละ 500 บาท พร้อมเครื่องดื่ม 1 แก้ว โดยจะเริ่มใน กทม. ก่อนขยายไปยังต่างจังหวัด อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจสำหรับคนรักสัตว์ คือทีม Vetside โดย นายสัตวแพทย์ ธนพัฒน์ สุขวิสุทธิ์ ตัวแทนทีม กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ คือ สัตวแพทย์ 1 คน ไม่ได้เชี่ยวชาญในการรักษาสัตว์ทุกประเภท ถ้าเกิดกรณีที่ต้องรักษาสัตว์ชนิดที่ไม่ได้เชี่ยวชาญอาจจะเกิดปัญหาในการรักษาได้ จึงเกิดแนวคิดพัฒนาโซเชียล เน็ตเวิร์ก เพื่อใช้เป็นคลังความรู้และแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลของสัตวแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาสัตว์ โดยมีลักษณะคล้าย ๆ กับวิกิพีเดีย และเฟซบุ๊ก รวมกัน ภายในจะมีฟีเจอร์ ถาม-ตอบ เพื่อให้สัตวแพทย์เข้ามาฝากคำถามและเข้ามาตอบ  คลังความรู้ที่รวมบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษาสัตว์ คอมมูนิตี้ใช้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษาของสัตวแพทย์ นอกจากนี้ในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถเชื่อมข้อมูลของสัตว์เลี้ยงกับโรงพยาบาลสัตว์เพื่อใช้ดูข้อมูลการรักษาต่าง ๆ ได้ “ตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่ไม่รวมปศุสัตว์มีประมาณ 5-8 ล้านตัว ซึ่งค่าใช้จ่ายมากกว่า 50% จะเป็นค่าดูแลรักษา ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ ซึ่งการหารายได้ในช่วงแรกจะมาจากสปอนเซอร์ และโฆษณา จากนั้นในเฟสต่อไปมีแผนจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้งานได้ด้วย” เป็นการตั้งต้นได้อย่างดีของทั้ง 5 ทีม  ซึ่ง เวลา 99 วัน ในการเข้าบูต แคมป์ (Boot Camp) ถือเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่สำคัญในการเข้าอบรมและพัฒนาผลงานให้ออกสู่ตลาดและดำเนินธุรกิจได้จริง. จิราวัฒน์ จารุพันธ์ JirawatJ@dailynews.co.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ทรู อินคิวบ์ รุ่น 2’ สร้างสตาร์ตอัพหน้าใหม่ – ฉลาดสุดๆ

Posts related