การทำบุญกับชาวพุทธเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อถึงวันเกิด  ปีใหม่ สงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา หรือวันเทศกาลต่างๆ ประชาชนผู้บริโภคนิยมทำบุญกัน การทำบุญด้วยการถวายสังฆทานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการทำบุญ เพื่อสร้างกุศลแก่ตนเองหรือถวายสังฆทานอุทิศให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว การถวายสังฆทาน หมายถึง การถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์จะจัดแบ่งปันแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการหรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ หรือเป็นการถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นการถวายสังฆทานเช่นกัน ในยุคสมัยนี้ เมื่อกล่าวถึงการทำบุญถวายสังฆทานยิ่งเป็นเรื่องสะดวกสบาย เพราะมีบริการจัดจำหน่ายชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมให้ประชาชนผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามต้องการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยคณะกรรมการว่าด้วยฉลากได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่องให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ดังนั้น ร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมจึงต้องจัดทำฉลากระบุรายละเอียดของสินค้าที่บรรจุเป็นชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือสิ่งที่นำมาห่อหุ้ม โดยให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ คือ ระบุคำว่า “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม” รายการสินค้าที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ ชื่อ สถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อนของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด วันเดือนปีที่บรรจุและราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาท หากชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมใดที่มีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มี สี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องจากการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกัน เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอกอาจทำปฏิกิริยาจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เพราะการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกัน อ่านฉลากชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมก่อนซื้อ เพราะคนซื้อไม่ได้ใช้ เพื่อผู้ใช้ได้รับของที่มีคุณภาพและได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เนื่องจากชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ หากผู้บริโภคซื้อชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมที่มีร้านค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจที่จัดจำหน่ายที่เอาเปรียบผู้บริโภคโดยจัดสิ่งของที่ไม่ได้คุณภาพหรือน้อยกว่าความเป็นจริง ก็จะทำให้ผู้ได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ราคาแพง และไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรให้ความสำคัญกับรายละเอียดของสินค้าเพราะข้อมูลที่ระบุในฉลากสินค้าถือเป็นหน้าที่และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภคอย่างมาก.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ทำบุญให้ได้บุญ’ – ไขปัญหาผู้บริโภค

Posts related