กลายเป็นกระแสโด่งดังในโลกโซเชียล เมื่อ “เฟซบุ๊ก” ทุ่มทุนซื้อ “วอทส์แอพ” แชตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นการครอบครองอาณาจักรมือถือของเฟซบุ๊กก็ว่าได้ อ.อรภัค สุวรรณภักดี นักวิชาการอิสระนักเขียนหนังสือทำตลาดบนเฟซบุ๊กฉบับประยุกต์แอพพลิเคชั่น เล่าว่า การเข้าซื้อวอทส์แอพ (WhatsApp)ของเฟซบุ๊ก (Facebook)ถือเป็นการครองอินสแตนท์ แมสเซนจิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการซื้อคู่แข่งทางเครือข่ายสังคมที่มีอัตราการโตเร็ว เพราะโลกกำลังจะเป็นโลกอินเทอร์เน็ตไร้สายอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้อนาคตการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่บ้านน้อยลง และใช้มือถือ ไอแพด แท็บเล็ต และอุปกรณ์ไร้สายติดต่อกันมากขึ้น จากเดิมโทรฯหาแฟกซ์ อีเมล เอสเอ็มเอส หรือเเชตผ่านเฟซบุ๊ก มาเป็นการสื่อสารผ่านระบบที่เรียกว่าอินสแตนท์ แมสเซนจิ้ง ครอบคลุมเกือบทั้งหมดของการติดต่อ ซึ่งโลกเร่งด่วน การติดต่อโดยใช้เฟซบุ๊ก อินเตอร์เฟซ ผ่านหน้าจอของเฟซบุ๊ก ยากกว่าการติดต่อโดยใช้อินสแตนท์ แมสเซนจิ้ง สำหรับการเข้าซื้อครั้งนี้ถือเป็นการซื้อฐานลูกค้ามือถือ ซื้อคู่แข่ง และซื้อข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าวอทส์แอพเพื่อวิเคราะห์ประวัติการใช้งานลูกค้ามือถือ เพื่อปรับและพัฒนาซีอาร์เอ็มของเฟซบุ๊ก ในการทำเรื่องของการโฆษณาผ่านมือถือ โดยฐานมือถือของวอทส์แอพถือว่าใกล้ชิดกว่าการใช้งานเฟซบุ๊ก เพราะมีลูกค้าบางส่วนที่ใช้เฟซบุ๊กน้อยลง แต่หันมาใช้อินสแตนท์แมสเซนจิ้งเพื่อติดต่อมากขึ้นแบบจริงจัง เพราะหากมองเชิงจิตวิทยา อินสแตนท์แมสเซนจิ้งเข้าถึงผู้ใช้งานมือถือมากกว่าเฟซบุ๊ก เพราะสะดวกกว่า ซึ่งหากพิจารณาไลน์ จะเห็นว่า ไลน์ได้เข้าถึงส่วนแบ่งทางการตลาดในเอเชีย และปัจจุบันมีคนย้ายจากการใช้งานเฟซบุ๊กไปเน้นอินสตาแกรม เเละ ไลน์แชตเเทน ซึ่งในอดีตเฟซบุ๊กเข้าซื้ออินสตาแกรม เพราะกลัวการเติบโต เร็วของอินสตาแกรม ที่คนหันไปโหลดรูปกันมากขึ้น และอาจดึงฐานลูกค้าของตนเอง แต่หลังการเข้าซื้ออินสตาแกรม ก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก มีเพียงการเพิ่มรูปแบบให้คนติดต่อกันมากขึ้น มีการลิงก์ เชื่อมต่อเฟซบุ๊กกับอินสตาแกรมได้ดีขึ้น “การลงทุนครั้งนี้ดูเหมือนมาก แต่ก็ไม่มากจนเกินไป ถือเป็นการซื้อทิศทาง และอนาคตเฟซบุ๊กเองก็เข้ามาอยู่ในตลาดมือถือกลาย ๆ เพราะว่าวอทส์แอพ ได้เข้ามาดึงส่วนแบ่งตลาดเอสเอ็มเอสจากหลายค่ายเช่นกัน” การเข้าซื้อวอทส์แอพ น่าจะเกิดประโยชน์ทางการพัฒนาฟังก์ชั่น และฟีเจอร์มากกว่านี้ ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบที่คล้ายกับไลน์ เเต่มีการเชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กมากขึ้น และมีการแชตที่อาจจะเป็นแชตกลุ่ม หรือ Group Chat และมีการลิงก์การทำงานกับอินสตาแกรม หรือ เฟซบุ๊ก โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีจุดที่ดึงข้อมูลบางอย่างได้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่เฟซบุ๊กทุ่มกับดีลนี้เป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทำให้มีแนวความคิดสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องของการสร้างซิลิคอนวัลเลย์และศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้าแห่งชาติ เนื่องจากความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมือถือหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ อาจสร้างรายได้ไม่แพ้รายได้จากเกษตรกรรม และจากท่องเที่ยวของประเทศไทยเลย หากมองว่าเทคโนโลยี คือหนึ่งในอนาคตของโลกที่ก้าวหน้า พร้อมกับการทำเงินมหาศาล หากค้นพบจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีนั้น เพื่อต่อยอดความก้าวหน้าของคนไทยในประเทศ และธุรกิจในประเทศ ประเทศไทยควรจะมีการทุ่มเพิ่มศักยภาพของนักพัฒนาไทยให้เทียบเท่าชาติตะวันตก และมีการสร้างสตาร์ตอัพโดยรัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสมองไหล และสูญเสียนักพัฒนาทางเทคโนโลยีเก่ง ๆ ให้กับต่างชาติต่อไปในอนาคต. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘เฟซบุ๊ก’กับการซื้ออนาคตตนเอง

Posts related